โรคสมาธิสั้น คือ อะไร
โรคสมาธิสั้น คือ อะไร
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder-ADHD) คือ กลุ่มอาการที่เกิดในวัยเด็ก ก่อนอายุ 7 ปี แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อพฤติกรรม, อารมณ์, การเรียนรู้ และ การเข้าสังคมกับผู้อื่น โดยเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีอาการสำคัญ 3 รูปแบบ
1.ความบกพร่องของสมาธิ (Inattention) คือ มีความสนใจสั้น เบื่อง่าย วอกแวกง่าย ทำงานไม่เรียบ
ร้อย ไม่รอบคอบ มักทำงานไม่เสร็จค้างคาไว้เสมอ
2.ความบกพร่องของพฤติกรรม(Hyperactivity) คือ เด็กมักจะนั่งไม่ติดที่ ชอบวิ่ง ปีนป่าย กระโดด
เล่นโลดโผน เสียงดัง อยู่นิ่งไม่ได้ ถ้าให้นั่งนิ่งอยู่กับที่ก็จะหยุกหยิกตลอดเวลา
3.ความบกพร่องในการคิดวางแผน(Impulsiveness) คือ เด็กมักจะหุนหัน วู่วาม ควบคุมตนเองไม่
ได้ ยังยั้งตนเองไม่เป็น ใจร้อน มักตอบคำถามก่อนที่ผู้ถามจะถามจบ รอคอยไม่เป็น ชอบพูดแทรกคน
อื่น
เด็กอาจมีอาการทั้ง 3 รูปแบบ หรือมีเพียงรูปแบบใดเพียง 1 หรือ 2 แบบ ทำให้ขณะที่อยู่ในห้องเรียน เด็กจะสนใจการเรียนไม่นาน เหม่อลอย หรือวอกแวกไปสนใจสิ่งนอกห้องเรียน แหย่เพื่อน หรือรบกวนคนอื่น ๆ ในห้องเรียน ไม่ตั้งใจเรียน และผลการเรียนมักไม่ดีเท่าที่ควร เด็กมักถูกลงโทษจากทั้งคุณครูและผู้ปกครองบ่อยกว่าคนอื่น และถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กซน นิสัยไม่ดี
โรคสมาธิสั้นมีสาเหตุจากอะไร
โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองบางส่วน โดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในปัจจุบัน คาดว่าเกิดจากสารเคมีในสมองบางชนิดไม่สมดุลทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี แม้เด็กจะพยายามควบคุมตนเองแล้วก็ตาม
จากการวิจัยพบว่า เด็กที่เป็นโรค ADHD มักไม่ประสบผลสำเร็จเท่าความสามารถที่แท้จริงของเด็ก ทั้งด้านการเรียนและมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น มักมีปัญหาทางจิตใจ คือ มองตนเองเป็นคนไม่ดี ไม่มั่นใจตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการของใคร ๆ (พบว่าจำนวน 25% ของเด็กที่เป็นโรค ADHD จะกลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว) ถ้าไม่ได้รับการรักษาช่วยเหลือก่อน
การรักษาโรคสมาธิสั้น
การรักษาเด็กสมาธิสั้นนั้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดต้องใช้การรักษาแบบผสมผสานหลายๆด้าน โดยเป้าหมายของการรักษา คือช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และลดปัญหาทางอารมณ์
การรักษาประกอบด้วย
1. การปรับพฤติกรรม และ การช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่เด็กและครอบครัว
ผู้ปกครองและครูของเด็กที่เป็นสมาธิสั้น ควรมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรค และเทคนิคการปรับพฤติกรรม เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก การประจาน ประณาม หรือตราหน้าว่าเด็กเป็นเด็กไม่ดีรวมทั้งการลงโทษด้วยความรุนแรง เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล โดยจะทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือ แสดงพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น แต่การชมหรือให้รางวัลเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยการตัดสิทธิหรืองดกิจกรรมที่เด็กชอบ จะเป็นวิธีการที่ได้ผลดีกว่า
2. การช่วยเหลือด้านการเรียน
เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่มักมีปัญหาการเรียนร่วมด้วยเนื่องจากไม่สามารถเรียนได้ตามศักยภาพที่มี ดังนั้นควรมีการประสานงานกับครูอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดการเรียน และสิ่งแวดล้อมในห้องให้เหมาะสมกับเด็ก คือ ห้องเรียนต้องค่อนข้างสงบไม่สับสนวุ่นวาย และไม่มีสิ่งกระตุ้นมาก มีระเบียบกำหนดกิจกรรมที่เด็กจะทำอย่างชัดเจน ก็จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น
3. การรักษาโดยการใช้ยา
ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นนั้นเป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ไม่ก่อให้เกิดการง่วงซึม หรือสะสมในร่างกาย ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น, ซนน้อยลง ดูสงบขึ้น, มีความสามารถในการควบคุมตนเอง ผลที่ตามมาคือ การเรียนอาจดีขึ้น มีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น และเด็กจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาแบบผสมผสานเท่านั้น การใช้ยาร่วมกับการรักษาโดยการปรับพฤติกรรม และการช่วยเหลือด้านการเรียน จะได้ผลที่ดีกว่าการรักษาโดยการใช้ยาอย่างเดียว
เมื่อโตขึ้นเด็กที่เป็นสมาธิสั้นมีโอกาสหายหรือไม่
เมื่อเด็กโตขึ้นผ่านวัยรุ่น ประมาณ 1 ใน 3 ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ สามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ปกติโดยไม่ต้องรับประทานยา
ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นยังคงมีความบกพร่องของสมาธิในระดับหนึ่ง แต่สามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น และสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะประสบความสำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
เด็กบางคนเมื่อโตขึ้นอาจยังมีอาการสมาธิสั้นอยู่มาก กลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการรักษา ทำให้มีผลเสียต่อการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น จึงควรได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกและต่อเนื่องจนเกือบปกติ
แม้แพทย์จะวินิจฉัยลูกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกเป็นเด็กไม่ดี หรือ จะไม่ประสบความสำเร็จในช๊วิต แต่หมายความว่าลูกมีปัญหาในการตั้งสมาธิ ดังนั้นความรักและความเข้าใจลูกในสิ่งที่ลูกเป็น และพยายามให้กำลังใจช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของลูกมีความสำคัญ และมีส่วนช่วยเหลือลูกให้ประสบความสำเร็จได้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : http://www.rcpsycht.org/cap/article_pp.php
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)