เทคนิคสยบลูกด้วยวิธี “ไม่สนใจ”!


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนกับ คำว่า “ไม่สนใจ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่ไยดี ปล่อยปละละเลย หรือทิ้งๆ ขว้างๆ แต่...หมายถึงการ “ใส่ใจ” ด้วยวิธี “ไม่สนใจ” เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กยุคนี้ไม่ธรรมดา ยิ่งเกิดในครอบครัวไม่ธรรมดาด้วยแล้ว เด็กยิ่งมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการกลายเป็นเด็กที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่าง เป็นธรรมดาที่คนเป็นพ่อแม่จะทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่อลูกผู้เป็นดั่งดวงใจ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ลูกจะเป็นศูนย์กลางของคนเป็นพ่อแม่ ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวขยาย เด็กก็เป็นศูนย์กลางของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา เด็กจะเป็นคนสำคัญและได้รับความสนใจอยู่ตลอดเวลา

ก่อนหน้านี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลเด็กแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกของชาวอเมริกันแบบไม่เครียด โดยให้พ่อแม่ทำเป็นไม่สนใจลูกบ้าง เพราะพบว่าเด็กอเมริกันยุคนี้แทบจะไม่เคยลิ้มรสรับรู้ชีวิตที่ไม่ได้รับความสนใจเลย จนกลายเป็นเด็กที่เรียกร้องความสนใจเก่งไปแล้ว เด็กยุคนี้แทบจะเป็นศูนย์กลางของความสนใจของพ่อแม่นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกเลยก็ว่าได้ พวกเขาเรียนรู้ว่าตัวเองนั้นมีความสำคัญเพียงใด ดังนั้น จึงทนไม่ได้เลยหากถูกละเลยไม่สนใจ เด็กจึงมีวิธีการเรียกร้องความสนใจมากมายหลายรูปแบบ ทุกวันนี้พ่อแม่จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าการเลี้ยงดูลูกนั้นทำให้เกิดความเครียด แต่ก็ยินดีและมีความรู้สึกว่าจะต้องให้ความสนใจกับลูกมากๆ โดยหารู้ไม่ว่า ยิ่งพ่อแม่ให้ความสนใจลูกมากเท่าใด ลูกก็ยิ่งต้องการความสนใจมากขึ้นเท่านั้น ในอดีต เด็กๆ ไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากเหมือนกับเด็กในปัจจุบัน และเด็กก็ได้เรียนรู้ด้วยว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำอะไร เป็นการเรียกร้องความสนใจ ซึ่งทำให้ทั้งพ่อแม่ลูกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และไม่เป็นการตามใจลูกจนเกินไป ฉะนั้น การไม่สนใจลูกบ้างจึงเป็นวิธีการเลี้ยงลูกอย่างหนึ่งที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย สถานการณ์ของเด็กในอเมริกาก็ไม่ต่างจากเด็กไทย หรือแนวโน้มของเด็กทั่วโลก เพราะเด็กที่เกิดมาในยุคนี้ มักจะได้รับการประคบประหงมที่ค่อนไปทางเกินเหตุเสียมากกว่า..!! ปัญหานี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวผู้มีอันจะกินทั้งหลาย สาเหตุหลักๆ ก็มาจากพ่อแม่ยุคนี้มีค่านิยมที่ต้องการมีลูกคนเดียว หรือไม่เกินสองคน โดยมีเป้าหมายจะดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประมาณว่ามีลูกน้อยแต่พร้อมที่จะเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ อยากได้อะไรก็มักจะได้ โดยหารู้ไม่ว่า กลายเป็นการสะสมบ่มเพาะนิสัยที่ไม่ดีหลายๆ อย่างให้เกิดขึ้นในตัวลูก อีกประการหนึ่ง ก็คือ ต้องการทดแทนชีวิตในวัยเด็กของพ่อแม่เอง มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะตอบสนองลูกในทุกเรื่อง ซึ่งบางครั้งการตอบสนองดังกล่าวจะออกมาในรูปของวัตถุมากกว่า ทำให้เด็กมักจะเรียกร้อง และสิ่งที่เรียกร้องก็มักจะเป็นสิ่งของซะมากกว่า เราจะเห็นได้ว่า เด็กๆ มักจะเอาแต่ใจตนเอง เพราะเวลาอยากได้อะไรแล้วมักจะได้ เพราะเด็กเรียนรู้ว่าพ่อแม่รักเขา และเขาก็เรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะตอบสนองสิ่งที่เขาต้องการ เรียกว่าตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่ก็จะประคบประหงม ไม่ให้ลูกร้องไห้ บางทีลูกยังไม่ทันได้รู้สึกหิว เพราะความห่วงใยของพ่อแม่ที่กลัวลูกหิว ก็จะเตรียมให้ลูกไม่ได้ขาด ลูกอยากได้สิ่งใด ก็ตามใจลูก ไม่อยากให้ลูกเสียใจหรือร้องไห้ เมื่อเด็กเรียนรู้ว่าทุกคนรักเขา และให้ความสำคัญกับเขา เขาก็เรียนรู้วิธีต่างๆ ได้มากมายกว่าที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ คิด บางครั้งเขาเรียนรู้ว่าถ้าลงไปนอนดิ้นกับพื้นเมื่อไร แม่จะต้องตอบสนองสิ่งที่เขาต้องการ หรือพ่อแม่บางคนจะทนไม่ได้เมื่อเห็นลูกร้องไห้ กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ หรือต้องการตัดรำคาญก็ตอบสนองทันที เด็กก็ยิ่งจดจำวิธีการเหล่านั้น เด็กจะทนไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่ให้ความสนใจในตัวเขา เขาจึงพยายามสรรหาวิธีเรียกร้องความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางยุคนี้ ได้รับความรักหรือความสนใจจากคนเป็นพ่อแม่ออกจะเกินเหตุด้วยซ้ำไป เขาควรจะต้องได้รับภูมิต้านทานในเรื่องนี้ ฉะนั้น คนเป็นพ่อแม่ต้องใช้วิธี “ไม่สนใจ” เพื่อสยบความเฮี้ยว หรือความเอาแต่ใจตนเองของลูกบ้าง แล้วมีวิธีใดบ้าง ? หนึ่ง – ลูกเป็นศูนย์กลางของพ่อแม่ก็จริงอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงออกให้ลูกรับรู้ทั้งหมด ควรจะอธิบายและสอนให้ลูกมีเหตุผลมากกว่าจะยอมลูกเพราะความรักเพียงอย่างเดียว ลูกจำเป็นที่จะต้องถูกปฏิเสธในบางเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม โดยมีพ่อแม่คอยอธิบาย และพูดคุยด้วยเหตุผลอย่างสม่ำเสมอ สอง – ต้องพยายามสร้างความรับรู้ และความเข้าใจกับคนในครอบครัว ที่มีส่วนต่อการดูแลลูกของเรา เพราะความรักของผู้ใหญ่ในบ้าน บางคราก็ทำร้ายลูกหลานของเราเอง ถ้าเรารักลูกไม่ถูกทาง การบ่มเพาะนิสัยที่ไม่ดี หรือปลูกฝังนิสัยดีๆ ก็เริ่มตั้งแต่เล็ก และก็เกิดจากการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้คนในครอบครัวที่ต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกัน ผู้ใหญ่ในบ้านต่างก็รักลูกของเรา การทำความเข้าใจ เพื่อให้การเลี้ยงดูลูกของเราไปในทิศทางเดียวกัน และบ่มเพาะนิสัยที่ดีเพื่ออนาคต สาม – บางครั้งวิธีที่ไม่สนใจลูก ก็ช่วยสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกได้ เช่น ถ้าลูกแสดงอาการที่ไม่เหมาะสม อาละวาด หรือกรี๊ด หรือนอนดิ้นกับพื้น เพื่อต้องการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเพื่อต้องการให้เรียกร้องความสนใจ แม้ใจจริงคุณอยากจะให้ลูกขนาดไหน ก็ต้องใจแข็ง และบอกกับตัวเองว่าต้องผ่านไปให้ได้ เพื่อสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกของเราที่ต้องเติบโตขึ้นไปในอนาคต โดยไม่มีเรา ลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ต้องถามตัวเราเองว่าแล้วเราสร้างลูกมาแบบไหนด้วยเช่นกัน



ที่มา : ผู้จัดการ --> สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน