7 เทคนิคปรับพฤติกรรมลูกรับวันหยุดสุดสัปดาห์

ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์กันแล้ว หลายครอบครัวคงดีใจและใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ก็มีบ้าง บางครอบครัวที่ทำกิจกรรมกับลูกตัวน้อยจริง แต่ไม่ว่าลูกจะทำอะไรก็ "อย่า ไม่ ห้าม" กันตลอด จนเด็กหงุดหงิด ผู้ปกครองห้ามมาก ๆ ก็(เริ่ม)อารมณ์ไม่ดี พาลทำให้กิจกรรมวันหยุดไม่สนุกเสียนี่

วันนี้เราจึงมองหาเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่น - สนุกสนานให้เกิดขึ้นอีกครั้งมาฝาก ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ

1. เมินเฉยกันบ้าง

ถ้าหากพฤติกรรมนั้น ๆ ของลูกไม่ใช่การทำลายข้าวของ ทำร้ายสัตว์ - คนให้บาดเจ็บ หรือเป็นพฤติกรรมที่คุณไม่สามารถยอมรับได้จริง ๆ ลองทำเป็นไม่สนใจเมื่อเห็นพฤติกรรมเหล่านั้น บางครั้งการแสดงออกของผู้ปกครองด้วยการลงไปห้าม อาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก เพราะแกได้เรียนรู้ว่า ทำแล้วสามารถเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้ ดังนั้นในบางกรณี การไม่สนใจก็ทำให้ลูกเลิกทำสิ่งที่คุณไม่ชอบได้เช่นกัน แถมไม่ต้องอารมณ์เสีย คอยห้ามทัพกันตลอดด้วยค่ะ

2. สอนลูกเรื่องเหตุและผล

หากจะปรับพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้น การสอนให้ลูกเข้าใจเรื่องเหตุและผลเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี เพราะจะทำห้เด็กเข้าใจว่า หากเขาตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างลงไปแล้วผลที่เกิดกับเขาจะเป็นอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ลองให้ลูกได้มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่เขาต้องการ แล้วยอมให้เขาได้รับผลของมันบ้าง (แต่ต้องเป็นสิ่งที่พ่อแม่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นอันตรายนะคะ) ประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการเลือกของตนเองจะทำให้เขาฉลาดเลือก และฉลาดทำมากขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป

3. เอ่ยปากชม

การเอ่ยปากชมลูกเมื่อเขาทำตัวน่ารัก หรือทำสิ่งที่เหมาะสมถือเป็นตัวช่วยทรงพลังให้กับการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในเด็ก เพราะโดยมากเมื่อเด็กทำพฤติกรรมอะไร เขาก็มักจะอยากได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่ แต่ก็ต้องใช้เทคนิคนี้อย่างเหมาะสมด้วยนะคะ ไม่ชมจนเฝือ

4. หลีกเลี่ยงคำพูดแย่ ๆ

พ่อแม่บางคนเลือกใช้คำประชดประชัน กดดันลูก เพื่อหวังให้เด็กมีแรงฮึด แต่อาจใช้ไม่ได้เสมอไป เพราะเด็กบางคนเมื่อเจอคำพูดไม่ดี ๆ จากพ่อแม่ (ที่หวังดี) เหล่านั้น เขาก็เลยเลิกล้มความตั้งใจที่จะทำดีไปเสียเลยก็มี อีกประการหนึ่ง หากพ่อแม่หวังจะปรับให้ลูกเป็นคนดี มีพฤติกรรมที่ดี มีประสบการณ์ที่ดี ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งไม่ดี หรือคำพูดไม่ดี ๆ ใช่ไหมคะ

5. มีเทคนิคการให้รางวัล (ที่ดี)

บางครั้งการใช้ของรางวัลล่อใจก็ช่วยให้ปรับพฤติกรรมลูกไม่น่าเบื่อเกินไป แต่พ่อแม่ก็ต้องระวังในจุดนี้ด้วย ไม่ให้ลูกหวังของรางวัลทุกครั้งที่ทำความดี เทคนิคการให้รางวัลกับลูก ๆ ด้วยวิธีนี้อาจทำเป็นตารางความดีของลูก บันทึกความดี (หรือก็คือพฤติกรรมดี ๆ ที่คุณอยากส่งเสริมให้เขาทำนั่นเอง) แปะข้างฝาเอาไว้ให้เห็นเด่นชัด เขาก็จะเห็นความดีของเขาพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามการบันทึก และทำให้การให้รางวัลของพ่อแม่ดูดีมีเหตุผลมากขึ้นด้วย

6. เตือน

เด็ก ๆ มักลืมง่าย โดยเฉพาะเขามักลืมสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้เขาทำเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างมาล่อใจ (เช่น เกม ทีวี เป็นต้น) การเตือนของพ่อแม่ช่วยให้เขากลับมาอยู่ในร่องในรอยได้อีกครั้ง ความลับของข้อนี้คืออย่าเตือนในลักษณะของการบ่น แต่อาจเป็นการบอกให้รู้เป็นนัย ๆ หรือใช้คำโค้ดลับที่ทราบกันในครอบครัว เมื่อเด็กเข้าใจ "สาร" ที่พ่อแม่ส่ง เขาก็จะทำในสิ่งนั้น ๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องออกคำสั่งเลย

7. ว่าด้วยเรื่องของสิทธิพิเศษ

สิทธิในการใช้โทรศัพท์ สิทธิในการดูทีวี เล่นเกม ฯลฯ เหล่านี้พ่อแม่สามารถสั่งระงับได้หากลูกมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น ไม่ยอมทำการบ้าน ไม่ทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมาย การสอนเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้จักรับผิดชอบในงานมากขึ้น และเข้าใจคุณค่าของสิทธิพิเศษที่เขาได้รับด้วย

วันหยุดทั้งที ลองเปลี่ยนกิจกรรมที่เต็มไปด้วยเสียงบ่น เสียงห้าม มาเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณลักษณะดี ๆ ของเด็กให้เด่นชัดขึ้นจะดีกว่าไหมคะ ไม่แน่ว่าอาจทำให้สุดสัปดาห์นี้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของทุกคนในครอบครัวก็เป็นได้นะคะ

ที่มา : http://www.manager.co.th
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก more4kids.info

โรคสมาธิสั้น คือ อะไร



โรคสมาธิสั้น คือ อะไร
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder-ADHD) คือ กลุ่มอาการที่เกิดในวัยเด็ก ก่อนอายุ 7 ปี แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อพฤติกรรม, อารมณ์, การเรียนรู้ และ การเข้าสังคมกับผู้อื่น โดยเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีอาการสำคัญ 3 รูปแบบ
1.ความบกพร่องของสมาธิ (Inattention) คือ มีความสนใจสั้น เบื่อง่าย วอกแวกง่าย ทำงานไม่เรียบ
ร้อย ไม่รอบคอบ มักทำงานไม่เสร็จค้างคาไว้เสมอ
2.ความบกพร่องของพฤติกรรม(Hyperactivity) คือ เด็กมักจะนั่งไม่ติดที่ ชอบวิ่ง ปีนป่าย กระโดด
เล่นโลดโผน เสียงดัง อยู่นิ่งไม่ได้ ถ้าให้นั่งนิ่งอยู่กับที่ก็จะหยุกหยิกตลอดเวลา
3.ความบกพร่องในการคิดวางแผน(Impulsiveness) คือ เด็กมักจะหุนหัน วู่วาม ควบคุมตนเองไม่
ได้ ยังยั้งตนเองไม่เป็น ใจร้อน มักตอบคำถามก่อนที่ผู้ถามจะถามจบ รอคอยไม่เป็น ชอบพูดแทรกคน
อื่น
เด็กอาจมีอาการทั้ง 3 รูปแบบ หรือมีเพียงรูปแบบใดเพียง 1 หรือ 2 แบบ ทำให้ขณะที่อยู่ในห้องเรียน เด็กจะสนใจการเรียนไม่นาน เหม่อลอย หรือวอกแวกไปสนใจสิ่งนอกห้องเรียน แหย่เพื่อน หรือรบกวนคนอื่น ๆ ในห้องเรียน ไม่ตั้งใจเรียน และผลการเรียนมักไม่ดีเท่าที่ควร เด็กมักถูกลงโทษจากทั้งคุณครูและผู้ปกครองบ่อยกว่าคนอื่น และถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กซน นิสัยไม่ดี

โรคสมาธิสั้นมีสาเหตุจากอะไร
โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองบางส่วน โดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในปัจจุบัน คาดว่าเกิดจากสารเคมีในสมองบางชนิดไม่สมดุลทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี แม้เด็กจะพยายามควบคุมตนเองแล้วก็ตาม
จากการวิจัยพบว่า เด็กที่เป็นโรค ADHD มักไม่ประสบผลสำเร็จเท่าความสามารถที่แท้จริงของเด็ก ทั้งด้านการเรียนและมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น มักมีปัญหาทางจิตใจ คือ มองตนเองเป็นคนไม่ดี ไม่มั่นใจตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการของใคร ๆ (พบว่าจำนวน 25% ของเด็กที่เป็นโรค ADHD จะกลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว) ถ้าไม่ได้รับการรักษาช่วยเหลือก่อน

การรักษาโรคสมาธิสั้น
การรักษาเด็กสมาธิสั้นนั้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดต้องใช้การรักษาแบบผสมผสานหลายๆด้าน โดยเป้าหมายของการรักษา คือช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และลดปัญหาทางอารมณ์

การรักษาประกอบด้วย
1. การปรับพฤติกรรม และ การช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่เด็กและครอบครัว
ผู้ปกครองและครูของเด็กที่เป็นสมาธิสั้น ควรมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรค และเทคนิคการปรับพฤติกรรม เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก การประจาน ประณาม หรือตราหน้าว่าเด็กเป็นเด็กไม่ดีรวมทั้งการลงโทษด้วยความรุนแรง เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล โดยจะทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือ แสดงพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น แต่การชมหรือให้รางวัลเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยการตัดสิทธิหรืองดกิจกรรมที่เด็กชอบ จะเป็นวิธีการที่ได้ผลดีกว่า
2. การช่วยเหลือด้านการเรียน
เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่มักมีปัญหาการเรียนร่วมด้วยเนื่องจากไม่สามารถเรียนได้ตามศักยภาพที่มี ดังนั้นควรมีการประสานงานกับครูอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดการเรียน และสิ่งแวดล้อมในห้องให้เหมาะสมกับเด็ก คือ ห้องเรียนต้องค่อนข้างสงบไม่สับสนวุ่นวาย และไม่มีสิ่งกระตุ้นมาก มีระเบียบกำหนดกิจกรรมที่เด็กจะทำอย่างชัดเจน ก็จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น
3. การรักษาโดยการใช้ยา
ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นนั้นเป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ไม่ก่อให้เกิดการง่วงซึม หรือสะสมในร่างกาย ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น, ซนน้อยลง ดูสงบขึ้น, มีความสามารถในการควบคุมตนเอง ผลที่ตามมาคือ การเรียนอาจดีขึ้น มีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น และเด็กจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาแบบผสมผสานเท่านั้น การใช้ยาร่วมกับการรักษาโดยการปรับพฤติกรรม และการช่วยเหลือด้านการเรียน จะได้ผลที่ดีกว่าการรักษาโดยการใช้ยาอย่างเดียว
เมื่อโตขึ้นเด็กที่เป็นสมาธิสั้นมีโอกาสหายหรือไม่
เมื่อเด็กโตขึ้นผ่านวัยรุ่น ประมาณ 1 ใน 3 ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ สามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ปกติโดยไม่ต้องรับประทานยา
ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นยังคงมีความบกพร่องของสมาธิในระดับหนึ่ง แต่สามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น และสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะประสบความสำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
เด็กบางคนเมื่อโตขึ้นอาจยังมีอาการสมาธิสั้นอยู่มาก กลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการรักษา ทำให้มีผลเสียต่อการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น จึงควรได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกและต่อเนื่องจนเกือบปกติ
แม้แพทย์จะวินิจฉัยลูกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกเป็นเด็กไม่ดี หรือ จะไม่ประสบความสำเร็จในช๊วิต แต่หมายความว่าลูกมีปัญหาในการตั้งสมาธิ ดังนั้นความรักและความเข้าใจลูกในสิ่งที่ลูกเป็น และพยายามให้กำลังใจช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของลูกมีความสำคัญ และมีส่วนช่วยเหลือลูกให้ประสบความสำเร็จได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : http://www.rcpsycht.org/cap/article_pp.php