12 วิธี ช่วยจัดการเด็กในสมาธิสั้น สำหรับพ่อแม่


1. ตั้งนาฬิกา-ตั้งเวลา :

ลองใช้นาฬิกาเตือนตามเวลาที่เป็นจริง เช่น เตือนเมื่อถึงเวลาทำงาน เตือนเมื่อหมดเวลาเล่น หรือไม่ก็หานาฬิกาเรือนโตๆ มาให้เด็กเห็นได้ชัดๆ จะช่วยเด็กให้กะประมาณเวลาได้ดีขึ้น


2. ชมแบบปืนไว :

หัดเป็นคนพูดชมสั้นๆ หรือตบไหล่ตบหลังทำนองชื่นชมเด็กทันทีที่เด็กเขาปฏิบัติตัวตามที่เราคาดหวัง ยิ่งเร็วยิ่งทำให้เด็กภูมิใจอยากทำอีก หัดเป็นเสือปืนไวครับ


3. ชม ชม และชม :

ทำให้เด็กซนสมาธิสั้นเหล่านี้รู้ให้ได้ว่า อะไรที่เราอยากให้เป็น โดยการชมเด็กเหล่านี้ ต้องการคำชมบ่อยกว่าเด็กทั่วไป เพื่อช่วยนำเขาให้ประพฤติถูกทางไปเรื่อยๆ จนทำงานได้ผลสำเร็จ หน้าที่ของพ่อแม่คือ ชมเชยเขาเมื่อทำถูกทางแล้วนั่นเอง


4. ทำตัวเป็นเครื่องจักรจ่ายรางวัลง่ายๆ :

เด็กพวกนี้ต้องการรางวัลที่จับต้องได้มากกว่าคำชมลอยๆ แต่รางวัลก็จะต้องทำให้ดูสำคัญสำหรับเขา นั่นคือคุณเองก็ต้องเป็นคนสำคัญของเขาเช่นกัน ต้องหมั่นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเมื่ออยู่ด้วยกัน เมื่อได้รางวัลเล็กๆน้อยๆเขาจะดีใจและพยายามทำตัวดีขึ้น


5. เปลี่ยนรางวัลบ่อยๆ ให้ดูสนุก :

วิธีนี้จะช่วยให้เด็กไม่เบื่อกับรางวัลเกินไป และจะคงพฤติกรรมดีๆไว้ได้ ลองให้เขาช่วยคิดตั้งรางวัลให้ตัวเองดู (แน่นอน ในขอบเขตที่เป็นไปได้) ทำให้ดูว่าเป็น เรื่องไม่จำเจ แม้จะให้เขาประพฤติตัวแบบเดิม

6. ลงมือ อย่าเอาแต่เหน็บหรือประชด :

เด็กซนสมาธิสั้นมีปัญหาที่การลงมือปฏิบัติไม่ใช่ความไม่เข้าใจ ดังนั้นยิ่งคุณพูดมาก อธิบายยาว หรือเหน็บแนมประชดประชันมากเท่าไร จะยิ่งทำให้เด็กทำงานเสร็จช้าลงเท่านั้น พยายามทำแค่เตือนสั้นๆ ให้รางวัลง่ายๆบ่อยๆแบบที่บอกข้างต้น โดยลดความจู้จี้ ย้ำซ้ำ และคำพูดไม่น่าฟังลง


7. แสดงออกในทางบวก :

บอกสิ่งที่เราอยากให้เด็กทำในทางบวก คิดให้ชัดเสียก่อนว่าเราอยากให้ทำอย่างไร แล้วบอกให้เขารู้ โดยมีรางวัลกระตุ้นความอยากบ้าง อย่าลืมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันไว้ พอเริ่มทำไปได้สัก 2 อาทิตย์ อาจมาปรึกษาหมอหรือครูที่ปรึกษาดูว่า ถ้าเด็กทำพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการ ว่าทำอย่างไร การลงโทษจะได้ผลแค่ช่วงต้นๆ แต่มักล้มเหลวที่จะให้เขาทำดีในระยะยาว

8. จงเตรียมพร้อม :

อย่างที่คุณรู้ เด็กพวกนี้มีปัญหาในเรื่องเก่าๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่าเอาแต่เบื่อล่วงหน้า เตรียมตัวไว้ก่อนว่า เราจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างไร ก่อนที่เด็กจะไปสถานการณ์เดิมๆอีก ควรทำดังนี้
ทวนข้อตกลงที่มี (ถ้ามี) 2-3 ข้อไว้ เด็กฟังแล้วให้เด็กพูดซ้ำ
ตั้งรางวัลหรือชมเชยเด็กเล็กๆน้อยๆทันทีที่เด็กทำตาม
ตั้งการลงโทษไว้ด้วยถ้าเด็กผิดข้อตกลง
พอเข้าสถานการณ์จริง สร้างความสัมพันธ์กับเด็กให้ดีตลอดที่เขาทำดี
ให้รางวัลหรือลงโทษทันทีที่พฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดีนั่นๆเกิดขึ้น


9. จำเสมอว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น :

โรคซนสมาธิสั้นทำให้เด็กหยุดตัวเองได้ยากขึ้น บางคนหยุดไม่ได้
เลยถ้าไม่มีคนหยุดให้หรือช่วยฝึกวิธีหยุดให้เขา แน่นอนโรคนี้สร้างปัญหาทั้งกับที่บ้าน, โรงเรียน หรือ
ทุกที่ที่ต้องการให้เขาหยุดพฤติกรรม ความที่ “ห้ามล้อ” เขาเสียจะให้คนดูเขาว่า เป็นเด็กที่คุมตัวเอง
ไม่เป็น ไม่รักษาเวลา บางคนจะดูเหมือนเด็กกว่าเพื่อนๆ

10. เลือกแต่เรื่องที่สำคัญน่าตอแยให้เหลือไม่มาก :

เราต้องมาเรียงลำดับว่า อะไรสำคัญก่อนหลัง
สำหรับเด็กและคุณ โดยเน้นให้เด็กช่วยตัวเองเป็นเข้าสังคมได้ ผ่อนผันส่วนยังไม่สำคัญจำเป็น
เล็กน้อยตอนนี้ออกไปบ้าง เลือกแต่ส่วนใหญ่ๆก่อน

11. หยุดโทษตัวเอง หยุดโทษเด็ก :

อย่านำปัญหาของตัวคุณไปใส่รวมกับของเด็กด้วย ไม่มีวิธีการไหนที่
ได้ผลทุกวัน ถ้าวันไหนเกิดไม่ได้ผล อย่าเพิ่งโทษตัวเอง ว่าตัวเองเป็นพ่อแม่คนไม่ได้ เด็กซน
สมาธิสั้นจะมีวันดีกับไม่ดี ขึ้นๆ ลงๆ ความผันผวนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็นพ่อแม่ดีระดับไหน
แต่เป็นจากตัวโรคของเขาเอง ต้องเน้นว่ามองหาแต่พฤติกรรมที่ดี

12 . หัดให้อภัย :

ก่อนนอนทุกวัน หัดให้อภัยยกโทษให้เด็กถ้าเขาทำไม่ดีไว้ในวันนั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้
เห็นว่าเราอยากให้เขาดีจริงๆ นอกจากนี้ หัดยกโทษให้ตัวเองด้วย ถ้าเราทำอะไรไม่เหมาะไปในวันนั้น



ลูกก่อศึก



ช่วงนี้ลูกของดิฉันเริ่มเกิดอาการอยากเป็นนักรบตัวน้อยๆ ค่ะ เวลามีเพื่อนวัยเดียวกัน หรือญาติๆ วัยไล่เลี่ยกันมาเล่นด้วย เล่นกันสักพักเป็นต้องมีอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงใส่กัน บางครั้งก็เกือบจะมีการลงไม้ลงมือกัน เป็นอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว ดิฉันต้องหาสาเหตุแล้วก็หาทางหย่าศึกพวกนี้ แล้วในที่สุดก็พบทางออกค่ะ
ทำไมเด็กๆ จึงทะเลาะกัน
อ๋อ... ความจริงแล้วการทะเลาะกันของเด็กๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ เพราะวัยนี้เพิ่งเริ่มรู้จักการเล่นกับเพื่อน รู้จักการเข้าสังคม เด็กๆ ยังไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ ทั้งยังไม่รู้วิธีการที่จะเข้าไปเล่นกับเพื่อน จึงกลายเป็นว่าเวลาจะเล่นกับใครก็ต้องไปเรียกร้องความสนใจด้วยการแย่งของเล่นเพื่อน เกิดความอยากได้อะไรขึ้นมาก็จะเอาดื้อๆ หรือพอถูกเพื่อนปฏิเสธไม่ทำตามใจก็จะหัวเสีย รวนเพื่อนเสียอย่างนั้นเอง และเพื่อนที่เป็นเด็กด้วยกัน ไม่เหมือนพ่อแม่นี่คะ จะได้ใจเย็นกับอาการรวน รวนมาก็รวนกลับ ก็เลยกลายเป็นเรื่องกันขึ้นมา
พี่น้องทะเลาะกัน
สาเหตุก็เกิดจากการที่ลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง จึงต้องมีการหวงแหนและปกป้องอาณาเขตของตนเอง การทะเลาะกันก็เป็นการทดสอบอาณาเขตตนเองของเด็กๆ ค่ะ พี่น้องกันทะเลาะกันก็เพราะหนูเริ่มรู้แล้วว่านี่พื้นที่ของหนู นี่ของของหนู เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ลูกทะเลาะกัน เราก็ต้องปูพื้นฐานเรื่องการแบ่งปันให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ พอถึงวัยทดสอบอาณาเขต ลูกก็จะมีปัญหาเรื่องการทะเลาะกันน้อยลงไปเยอะเลยค่ะ
ลูกชอบแกล้งเพื่อน
จะมีเด็กบางคนที่มีนิสัยชอบแหย่ ชอบแกล้งเพื่อน การที่แกทำอย่างนั้นเพราะแกสนุกค่ะ เป็นวิธีเล่นสนุกของแก แต่แกไม่ทันคิดว่าเพื่อนเดือดร้อนจากความสนุกนั้น แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะเป็นแบบนี้นะคะ มีเด็กบางคนเท่านั้นที่ชอบแกล้งเพื่อน
ดังนั้น ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกเราชอบแหย่เพื่อนจนเพื่อนร้องไห้ หรือชอบหงุดหงิดหัวเสียใส่เพื่อนบ่อยๆ เราต้องคอยเบรกลูกค่ะ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยวิธีการรุนแรงหรือทำโทษ คือต้องค่อยๆ อธิบายให้แกเข้าใจว่า ทำอย่างนี้จะเกิดผลเสียยังไง ทำอย่างนี้เพื่อนจะวิ่งหนี ไม่อยากเล่นด้วย หรือทำอย่างนั้นเพื่อนจะเสียใจ ร้องไห้ หนูต้องสงสารเพื่อนนะคะ และสอนให้ลูกรู้จักวิธีการพูดแสดงความรู้สึก เช่น อยากได้ก็ต้องขอยืมหรือขอแลก แล้วถ้าเพื่อนไม่ให้หนูก็ต้องรู้จักรอให้เพื่อนเล่นเสร็จก่อนหนูค่อยเล่นก็ได้ ระหว่างนี้หนูก็เล่นอย่างอื่นที่สนุกพอๆ กันไปก่อน เป็นต้น แม้กับเด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนเราก็ต้องพูดกับแกดีๆ ค่ะ เพราะการแสดงอารมณ์ก้าวร้าวใส่เด็ก เด็กก็จะยิ่งก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเขาเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง พฤติกรรมก้าวร้าวก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ค่ะ
ลูกมักถูกแกล้ง
แล้วถ้าลูกของเราค่อนข้างปวกเปียก เราก็ต้องบอกลุกว่าให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะถูกรังแก เช่น เพื่อนคนนี้เข้ามาใกล้จะแกล้งอีก ก็หลีกออกมาให้ห่าง หรือถ้าเขายังตามมาแกล้ง ต้องบอกคุณครูให้ทราบเพื่อให้ช่วยเคลียร์ปัญหาให้
แต่ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้นแล้วเห็นลูกถูกแกล้ง โดยที่ลูกเราไม่ใช่ฝ่ายผิด อย่าแสดงอารมณ์โกรธหรือดุอีกฝ่ายนะคะ เพราะต่อไปเด็กคนนั้นจะยิ่งแกล้งลูกเรามากยิ่งขึ้น แถมลูกเราก็ไม่ได้เรียนรู้แบบอย่างการจัดการกับปัญหาจากเรา เราควรเข้าไปไกล่เกลี่ยก่อนค่ะ บอกอีกฝ่ายอย่างนุ่มนวลว่าทำอย่างนั้นไม่ได้นะคะ เพื่อนเสียใจแล้วก็เจ็บด้วย เสนอทางเลือกใหม่ให้กับเด็กๆ เช่น เล่นแบบนี้ดีกว่าไหมคะ การทำอย่างนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงการรับมือกับปัญหาว่า สามารถหาทางออกได้มากกว่าการทะเลาะกันค่ะ
หย่าศึกก่อนเกิดสงครามย่อยๆ
เวลาเด็กแสดงอาการก้าวร้าว ทะเลาะกัน พ่อแม่อย่ามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้นมากเกินไป เช่น อย่าร้องโวยวายเสียงดัง หรือต้องรีบเข้าไปโอ๋ลูก เพราะเด็กจะเข้าใจว่าทำอย่างนี้จะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้ ทีหลังก็จะใช้วิธีนี้เรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่อีก
อย่าหงุดหงิดใส่ลูก เพราะลูกจะซึมซับความหงุดหงิดนั้นไปด้วย และนี่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาทะเลาะกันของเด็ก แต่กลับยิ่งทำให้เด็กโมโหโกรธาและหงุดหงิดตามและเป็นการบ่มเพาะความก้าวร้าวขึ้นในใจเด็กค่ะ
ยุติความขัดแย้งด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจออกจากสิ่งนั้น เช่น แย่งของเล่นกันก็หาอะไรใหม่ๆ มาชวนลูกๆ ทำ เช่น ดูการ์ตูนกันไหม หรือมาเล่นตัวต่อนี้ดีกว่า เป็นต้น
ถ้าเห็นว่าชักจะทะเลาะกันเกินงาม มีการผลัก ดึงทึ้งกันแล้ว ต้องพูดกับลูกอย่างหนักแน่นแต่นุ่มนวล ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้นะคะ ค่อยๆ จับมือลูกออกจากเพื่อนแล้วพอลูกอารมณ์สงบแล้วค่อยมาคุยกันถึงเหตุผลว่า ทำอย่างนั้นทำให้เพื่อนเจ็บ ลูกก็คงไม่อยากเจ็บแบบนั้นใช่ไหมคะ
ไม่ควรจะแสดงอาการว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหาคนผิด ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องทะเลาะกัน หรือเพื่อนทะเลาะกัน เพราะการแสดงอารมณ์ลบๆ ออกไปไม่ว่าจะกับฝ่ายใด จะไม่เป็นผลดีกับเด็กคนนั้น เพราะเด็กไม่ชอบค่ะ ยิ่งห้ามก็เลยเหมือนยิ่งยุ เด็กก็จะมีพฤติกรรมแบบนั้นซ้ำๆ ส่วนฝ่ายที่ถูกปกป้องก็จะไม่ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา ที่เป็นตัวอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่ เอะอะอะไรก็จะหาแม่ ฟ้องแม่ ซึ่งในชีวิตจริงเราไม่สามารถปกป้องลูกได้ตลอดเวลา
Tricks สร้างแนวป้องกัน ลูกก่อศึก
ถ้าเด็กๆ จะต้องมารวมกลุ่มเล่นกัน ควรหาสถานที่เล่นที่ปลอดโปร่ง เป็นที่โล่งๆ เช่น สนามหญ้าให้เด็กได้วิ่งเล่นระบายพลังงานออกไป เพราะการอยู่ในห้องแคบๆ จะทำให้เด็กหงุดหงิด อารมณ์เสียได้ง่าย แต่ถ้าเป็นที่โล่งๆ ปลอดภัย ไม่มีอะไรใกล้มือให้หยิบขว้างกันได้ คงไม่มีโอกาสกระทบกระทั่งกัน การทะเลาะก็จะน้อยลง แถมจะเป็นความประทับใจทำให้เด็กๆ อยากมาเล่นกันอีกบ่อยๆ
ชื่นชมเมื่อลูกเล่นกันอย่างสร้างสรรค์แบ่งปันของเล่นกัน ดูแล้วน่ารักน่าเอ็นดู การชมจะทำให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าถ้าเล่นกันดีๆ จะได้รับการชื่นชม และเรียนรู้ว่าทำตัวอย่างนี้เพื่อนๆ ก็ยอมรับ ผู้ใหญ่ก็ยอมรับ เด็กๆ นี่เขาก็บ้ายอไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะคะ ฮิฮิๆ
การห้ามทัพเด็กทะเลาะกัน ต้องใช้กระบวนยุทธต่างๆ หลายกระบวนค่ะ ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ คุยให้หนูเข้าใจ


[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 9 ฉบับที่ 101 มีนาคม 2547 ]