เมื่อลูกพูดคำหยาบ



เมื่อคุณได้ยินลูกวัยประมาณ 4 ขวบ พูดคำหยาบ…
ก่อนอื่นขอให้คุณถามตัวเองก่อนว่า หากลูกพูดคำพูดที่ไม่ค่อยหวานหูนั้น ท่ามกลางโต๊ะกินข้าวกับญาติผู้ใหญ่ คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร…
คุณอาจจะดุเขาด้วยเสียงดัง (ห้ามพูดคำๆนี้นะ)… อับอายจนหน้าแดงและพูดไม่ออก… หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องคุยให้เป็นเรื่องอื่น เด็กๆมักจะเริ่มจดจำและพูดคำหยาบเมื่ออายุได้ประมาณ 4 ขวบ เขามักจะจดจำคำต่างๆเมื่อได้ยินบ่อยๆ และทดลองใช้มัน ในความคิดของพวกเขานั้นคำหยาบหรือคำที่ไม่สุภาพนั้นเป็นคำคำหนึ่งที่เขาไม่รู้ความหมายแน่นอน แต่เมื่อได้พูดออกมาแล้ว จะมีผลกระทบที่ชัดเจนต่อผู้ฟัง ดังนั้นวิธีการตอบสนองที่ถูกต้องก็คือ “อย่าตอบสนองต่อการที่เขาพูดคำหยาบให้เป็นเรื่องใหญ่ (overreact)” มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติง่ายๆดังนี้ค่ะ
1. หาแหล่งที่มาของคำหยาบเหล่านั้น เด็กวัย 4-5 ขวบ มักจะเล่นกับเพื่อนบ้านหรือรุ่นพี่ที่มีวัยมากกว่า (หรือแม้แต่ผู้ปกครอง) เขาจะเรียนรู้ว่าคำหยาบเหล่านี้เป็นคำที่มีอำนาจสูง มันสามารถทำให้ผู้ฟังมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างฉับพลัน เช่น หยุดพูดหรือหยุดทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ คุณต้องสอดส่องดูว่าแหล่งของคำหยาบเหล่านี้มาจากไหน พยายามกันลูกจากบุคคลเหล่านั้น หรือพูดกับเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้อง (ถ้าทำได้) นอกจากนั้นควรจะเลือกดูรายการโทรทัศน์ที่ไม่มีคำสบทหรือคำไม่สุภาพ
2. เมื่อลูกพูดคำหยาบให้คุณอธิบายเขาว่า “คำบางคำไม่ควรพูดนะลูก เวลาคนอื่นได้ยินแล้วจะรู้สึกไม่ดี” คำเหล่านี้อาจจะรวมถึงคำพูดส่วนตัวอื่นๆด้วย เช่น อึ ฉี่ ซึ่งไม่ควรพูดบนโต๊ะอาหาร “หากลูกปวดอึหรือปวดฉี่ให้มากกระซิบให้แม่ฟัง”
3. สอนให้หลีกเลี่ยงใช้คำอื่นๆแทน หากลูกของคุณใช้คำหยาบในการระบายอารมณ์ ก็ควรจะสอนให้เขาใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่าแทน เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พูดว่า “โกรธแล้วนะ” แทน แล้วอย่าลืมว่าผู้ใหญ่ควรจะต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้วย
4. เพิกเฉยซะ เมื่อลูกของคุณเรียนรู้ว่าคำบางคำเมื่อพูดแล้วทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาตอบสนองได้ เขาคงอยากจะพูดออกมาเพื่อทดสอบอำนาจของคำๆนั้นในบางครั้ง ให้คุณทำเป็นเพิกเฉยเสีย ให้เขารู้สึกว่ามันไม่มีความหมาย
5. เมื่อลูกโตขึ้นเช่นอายุ 6-7 ขวบ เขาโตพอที่จะเรียนรู้ความหมายของคำ เหตุและผลได้ คุณควรจะต้องสร้างกฎภายในบ้านว่า “ภายในบ้าน พ่อกับแม่ห้ามลูกๆพูดคำหยาบหรือคำไม่สุภาพ” และปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัด หากมีการพูดเกิดขั้นจะต้องมีการทำโทษ
เรียบเรียงจาก The good behaviour book โดย Dr. William Sears and Martha Sears. Keyword: คำหยาบ ไม่สุภาพ

วันเด็กแห่งชาติ

งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้


คำขวัญวันเด็ก
คำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน




พ.ศ. 2499
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. 2502
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ. 2507
จอมพล ถนอม กิตติขจร
ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. 2508
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. 2509
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. 2510
จอมพล ถนอม กิตติขจร
อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. 2511
จอมพล ถนอม กิตติขจร
ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. 2512
จอมพล ถนอม กิตติขจร
รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. 2513
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. 2514
จอมพล ถนอม กิตติขจร
ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. 2515
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. 2516
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2517
นายสัญญา ธรรมศักดิ์
สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. 2518
นายสัญญา ธรรมศักดิ์
เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. 2519
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช
เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. 2520
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. 2521
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ. 2522
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. 2523
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2524
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. 2525
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2526
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. 2527
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. 2528
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. 2529
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2531
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2532
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2533
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2534
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. 2535
นายอานันท์ ปันยารชุน
สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. 2536
นายชวน หลีกภัย
ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537
นายชวน หลีกภัย
ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2538
นายชวน หลีกภัย
สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2539
นายบรรหาร ศิลปอาชา
มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. 2540
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. 2541
นายชวน หลีกภัย
ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2542
นายชวน หลีกภัย
ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2543
นายชวน หลีกภัย
มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2544
นายชวน หลีกภัย
มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2545
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. 2546
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. 2547
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. 2548
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. 2549
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. 2550
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ. 2551
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2552
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี




ที่มา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การอบรมเลี้ยงดูให้ลูกเป็นคนดี มีคุณภาพ



ส่งเสริมพัฒนาการอย่างสมดุลครบทุกด้าน
พ่อแม่ช่วยส่งเสริมให้ลูก เป็นคนดี คนเก่งของครอบครัวและสังคมได้ โดย- ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด ด้วยความรักและความเข้าใจ ทำให้ลูกมีจิตใจดี- ให้โอกาสลูกเรียนรู้ เล่น และฝึกทำสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเป็นมิตร ทำให้ลูกฉลาด คล่องแคล่ว และมีมานะอดทน- ยิ้มแย้ม สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน สังเกตการแสดงออกของลูก รับฟังและพูดคุยโต้ตอบกับลูก สนใจที่ตอบคำถามและเล่าเรื่องต่างๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก ทำให้ลูกรู้ภาษาเร็ว และมีกำลังใจใฝ่รู้- ทำตัวเป็นแบบอย่าง ที่จะปลูกฝังลักษณะนิสัย และความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ลูกรู้จักกาละเทศะ รู้ผิดรู้ชอบและคุ้นเคย กับสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อชีวิต
เอาใจใส่ให้เวลา
พ่อแม่จำเป็นต้องให้เวลา และเอาใจใส่ลูกๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างกัน ความมั่นคงทางใจ มีความสำคัญมากต่อชีวิต และจิตใจของลูกๆ อาจจะเรียกได้ว่า เท่ากับอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การดูแลรักษายามเจ็บไข้ และการปกป้องจากอันตรายต่างๆ
เด็กมองเห็น ได้ยิน รู้จักตอบสนองต่อรส กลิ่น และสัมผัสตั้งแต่แรกเกิด เรียนรู้ได้เร็วจากคนที่ใกล้ชิด จากประสบการณ์และการกระทำของตนเอง พ่อแม่จึงต้องให้เวลาอยู่ใกล้ชิด มองหน้าสบตายิ้มแย้ม สัมผัสอย่างอ่อนโยน พูดคุยโต้ตอบ เล่นด้วยกัน จัดสภาพแวดล้อมให้น่าสนใจและปลอดภัย ทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกโดยคำนึงถึง ความสนใจ และความสามารถของลูก
เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก
การอบรมเลี้ยงดูลูก ด้วยความรักความเมตตา ใช้เหตุผล อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีงาม จะช่วยให้ลูกมีจิตใจมั่นคง ไม่สับสน การฝึกให้ลูกเป็นคนรู้จักคิด มีน้ำใจ และคุณธรรม จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีคุณภาพในอนาคต ส่วนเด็กที่ถูกละเลยทอดทิ้ง หรือถูกทำโทษรุนแรง จะมีปัญหาสุขภาพจิต และมีความประพฤติต่อต้านสังคม กลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าวได้
พ่อแม่สามารถจูงใจให้ลูก มีความใฝ่รู้ กล้าแสดงความคิดเห็น และความรู้สึกอย่าง เหมาะสม ตามกาลเทศะ โดยให้ความสนใจ ในสิ่งที่ลูกกำลังทำ ตอบคำถามของลูกได้ ฝึกให้ลูกได้ ฝึกให้ลูกหัด สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้โอกาสลูกที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน ซึ่งอาจจะแตกต่างกับความคิดของพ่อแม่ และให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้ จากการลองถูกลองผิดบ้าง ในกรณีที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย
สังเกตพัฒนาการตามวัย
ตามปกติเด็กวัยนี้ พัฒนาความสามารถด้านต่างๆ รวดเร็วมาก พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก จึงจำเป็นจะต้องติดตาม สังเกตพฤติกรรม และความรู้สึกนึกคิดของลูก ว่า เปลี่ยนแปลงไป ตามวัย เท่าที่ควรหรือไม่ โดยศึกษา และบันทึกลงสมุดบันทึกสุขภาพ ประจำตัวเด็ก ควรปรับเปลี่ยน วิธีการอบรมเลี้ยงดู ให้เหมาะสมกับวัย เพศ และความสามารถของลูก โดยไม่เคี่ยวเข็ญจนเกินไป หากสงสัยว่า ลูกมีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย ควรให้โอกาสฝึกหัด อีกสัก 1 เดือน ถ้าไม่มีความก้าวหน้า ควรปรึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
หากพ่อแม่พบลักษณะที่สงสัย หรือมีปัญหา ในการเลี้ยงดู ควรบอกเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ ลักษณะที่สงสัยว่าอาจผิดปกติ ได้แก่
การได้ยิน
ลูกไม่สะดุ้ง เวลามีเสียงดังใกล้ตัว อายุ 6 เดือน ไม่หันมองหา ตามเสียงเรียกชื่อ
การมองเห็น
เดือนแรกไม่มองหน้าอายุ 3 เดือน ไม่มองตามสิ่งของ หรือหน้าคน ที่เคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าอายุ 6 เดือน ไม่คว้าของอายุ 9 เดือน ไม่หยิบของชิ้นเล็กๆ ที่อยู่ตรงหน้า
การเคลื่อนไหว
แขนขาขยับ ไม่เท่ากัน หรือเคลื่อนไหวน้อยอายุ 3 เดือน ยังไม่ชันคออายุ 5 เดือน ยังไม่คว่ำอายุ 9 เดือน ยังไม่นั่งอายุ 1 ขวบ ไม่เกาะยืนอายุเกิน 2 ขวบ ยังล้มง่าย งุ่มง่าม หรือเก้ๆ กังๆ
การรู้จักและใช้ภาษา
อายุ 10 เดือน ยังไม่เลียนเสียงพูดอายุ 1 ขวบ ยังไม่เลียนท่าทาง และยังพูดเป็นคำ ที่มีความหมายไม่ได้อายุ 1 ขวบครึ่ง ยังไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ไม่พูดเป็นคำๆอายุ 3 ขวบ ยังไม่พูดโต้ตอบ เป็นประโยค
ปัญหาอื่นๆ เช่น การกิน การนอน การขับถ่าย อยู่ไม่สุข ซุกซนผิดปกติ แยกตัว ซึมเศร้า ก้าวร้าว
ให้การศึกษาเพื่อชีวิต
เด็กวัยนี้จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากพ่อแม่ และสมาชิกในครอบครัว เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กแรก เกิดถึงอายุ 3 ขวบ มักได้รับการดูแล อยู่ในบ้าน บางคนอาจได้รับการดูแล จากพี่เลี้ยง หรือผู้ดูแล ในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน พ่อแม่จึงควรเลือก บริการเลี้ยงลูก ที่สะอาด ปลอดภัย และมีกิจกรรมการเล่น และเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ พ่อแม่ก็ยังจำเป็น จะต้องติดตาม เอาใจใส่ ดูแลลูก อย่างใกล้ชิดด้วย
เมื่อลูก มีอายุ 3-4 ขวบ ขึ้นไป พ่อแม่ควรพาไปเข้ากลุ่มเรียนรู้ จากครูและเพื่อน ในชั้นเด็กเล็ก หรือศูนย์พัฒนาเด็ก เพิ่มขึ้นจากการอบรม เลี้ยงดูที่บ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ก่อนที่จะเข้าเรียน ชั้นประถมศึกษา ดังนี้
- ด้านร่างกาย เน้นความคล่องแคล่ว ในการเคลื่อนไหว และการใช้มือกับตา ให้ทำงานไปด้วยกัน ประสานกัน ในการวาด ปั้น และขีดเขียน- ด้านสติปัญญา เน้นการรับรู้ เรียนรู้ รู้จักแยกแยะ สิ่งต่างๆ ที่เหมือนกัน ต่างกัน รู้จักเชื่อมโยง สิ่งต่างๆ ที่เหมือนกัน ต่างกัน รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจใฝ่รู้- ด้านการเข้าใจ และการใช้ภาษา รู้และอธิบายความหมายของคำ และเรื่องราว เล่าเรื่อง และจับใจความสำคัญได้- ด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม มีความรู้สึกที่ดี ต่อตนเอง รู้จักแบ่งปัน และทำตามระเบียบ รู้จักการรับ และให้ความช่วยเหลือ รู้จักขอบคุณ และขอโทษ
ทั้งนี้ ต้องระวัง อย่าปล่อยปละ จนลูกขาดโอกาสเรียนรู้ แต่ก็ต้องระวัง อย่าเร่งบังคับ ให้ลูกท่องจำ อ่านเขียน จนเคร่งเครียด เกินไป หรือจัดให้เรียนพิเศษ วิชาต่างๆ จนลูกล้า จะเป็นผลเสีย ต่อการพัฒนาความรู้คิด และสร้างสรรค์ของลูก
หัดให้รักและอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมไทย และสภาพแวดล้อม
ฝึกภาษาให้ถูกต้อง
พ่อแม่สามารถฝึกภาษาให้ลูกได้ ตั้งแต่แรกเป็นทารก หรือยังเล็กๆ อยู่ โดยพูดคุยกับลูก ด้วยภาษาที่ฟังเข้าใจง่าย และชัดเจน ด้วยท่าทางที่เป็นมิตร โดยอาจจะใช้วิธี เล่านิทาน อ่านหนังสือ ชี้ให้ลูกดูภาพ หรือเล่าเรื่องเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น และฝึกให้ลูกได้ฟัง และหัดพูดภาษาไทย ได้เรียนรู้ภาษาไทย สำหรับสื่อความหมาย และติดต่อกับคนอื่นๆ ได้ในสังคม ทั้งยังเป็นการสืบทอดภาษา อันเป็นเอกลักษณ์ ประจำชาติไทยอีกด้วย
พ่อแม่และผู้ใหญ่เอง จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และส่งเสริมให้ลูก พูดเป็นประโยค อย่างถูกต้อง ใช้คำที่เหมาะสมในการ พูดจาโต้ตอบ อธิบายความรู้สึกนึกคิด ของตน หรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆ และตอบคำถาม อย่างได้ใจความ การเริ่มสอนภาษาไทยนั้น ควรเริ่มจากให้ลูกเห็น และเล่นตัวอักษรไทย และตัวเลขไทย ตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ ขึ้นไป เริ่มฝึกให้รู้จัก ตัวอักษร อ่านและขีดเขียน ทีละเล็กน้อย ราวอายุ 4-5 ขวบ ขึ้นไป ตามความพร้อมของลูก
รู้จักและรักในคุณค่าวัฒนธรรมไทย
เด็กๆ จะซึมซับค่านิยม และวัฒนธรรมที่ดี จากการกระทำของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น มารยาททางสังคม เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การไหว้ การกินอยู่ การรู้จักสำรวม และเกรงใจ หรือแม้กระทั่ง เรื่องระเบียบวินัยทางสังคม การรักและชื่นชมธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นเรื่องที่พ่อแม่ จะชี้ชวนให้ลูกสนใจ และปลูกฝัง ได้ไม่ยาก ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เขาดูและสนับสนุน ให้ลูกได้คิด และได้ทำ อย่างเหมาะสม เริ่มจากเล่านิทาน ร้องเพลงกล่อมลูก เล่นดนตรี ประดิษฐ์ของเล่นด้วยกัน เล่นการละเล่นพื้นบ้าน พาลูกร่วมกิจกรรม ทางสังคม และประเพณี ตามความเหมาะสม เมื่อลูกสนใจแล้ว เขาจะกระตือรือร้น ที่จะทำเองและพัฒนา เป็นนิสัยที่ดีต่อไป
ปลูกฝังคุณธรรม ระเบียบวินัย และแนวทางประชาธิปไตย
1 สนใจ เข้าใจ ไม่บังคับ
ช่วงอายุ 1-3 ปี เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ต้องการเป็นตัวของตัวเองมาก เขาจะอยากทำอะไร ด้วยตนเอง มักจะต่อต้านคำสั่ง หรือแสดงอารมณ์โกรธ เมื่อถูกขัดใจ เหล่านี้เป็นพัฒนาการปกติ ตามวัยของเขา หากพ่อแม่เข้าใจในข้อนี้ พยายามหลีกเลี่ยง การบังคับขู่เข็ญ หรือต่อล้อต่อเถียง ทำโทษรุนแรง แต่ใช้วิธีอบรมสั่งสอน ด้วยความเข้าใจ สนใจ ชมเชยเมื่อทำสิ่งที่ควร ช่วยเมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนให้โอกาสเข้าฝึกทำอะไรด้วยตนเองในขณะที่ผู้ใหญ่ยอมรับฟัง และแก้ไขความขัดแย้ง ด้วยโดยไม่ใช้เสียงดัง หรือกำลังบังคับ ลูกก็จะเรียนรู้ไ้ด้ ด้วยตัวเอง ในที่สุด
2 สอนให้มีคุณธรรม ด้วยการทำเป็นแบบอย่าง
การปลูกฝังการดำเนินชีวิต อย่างมีคุณธรรม ผู้ใหญ่จะต้องเป็นแบบอย่างให้เห็น เช่น- จะปลูกฝัง การรักษาความจริง ผู้ใหญ่ต้องไม่หลอก หรือขู่เด็กเสียเอง- จะฝึกการไม่เบียดเบียนกัน ผู้ใหญ่ก็ต้องแสดงความรัก ความเมตตาต่อคนอื่นๆ ด้วยการให้อภัย ไม่ทำร้ายผู้อื่น ทั้งด้วยคำพูด หรือการกระทำ- ฝึกการรู้จักละอาย และควบคุมตัวเอง ต่อการทำความผิด สอนลูกไม่ให้ทำ ในสิ่งที่ไม่ควร- ฝึกหัดความรู้จักพอ ใช้จ่ายแต่สมควร ไม่ตามใจลูก จนไม่มีเหตุผล- ปลูกฝังและฝึกให้ลูก เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี โดยการช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ในครอบครัว สนใจทุกข์สุข และแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน ทั้งในยามสบาย และยามเจ็บป่วย- ฝึกให้ลูกเรียนรู้ ความต้องการของคนอื่น ไม่เอาแต่ใจตนเอง รู้จักรอ และมีส่วนช่วยเหลือ คนในครอบครัว ตามกำลังควา

เมื่อคุณต้องเลี้ยงลูกคนเดียว



เมื่อคุณต้องเลี้ยงลูกคนเดียว
หากเปรียบร่างกายกับครอบครัว ทุกคนคงต้องการ เกิดมามีร่างกายครบบริบูรณ์ ร่างกายที่มีทั้งแขน ขา จมูก ปาก เฉกเช่นเดียวกับครอบครัว ทุกคนต่างต้องการ มีครอบครัวที่ครบบริบูรณ์ ครอบครัวที่มีทั้งพ่อ แม่ ลูก แต่หากครอบครัวใด ที่ต้องพิการ คือขาดพ่อ หรือแม่ไป ครอบครัวเหล่านั้น ก็ยังสามารถสร้างครอบครัว ให้มีคุณภาพ สร้างครอบครัว ให้ผาสุกได้ หากเพียงแต่สมาชิกในครอบครัว เรียนรู้ที่จะดำเนินครอบครัว อย่างสอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ ให้ดีที่สุด
ครอบครัวที่พ่อหรือแม่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว
หลายๆ ครอบครัว ที่พ่อหรือแม่ ต้องไปทำงานไกลๆ เป็นระยะเวลานาน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เสียชีวิต หรือหย่าร้างกัน ทำให้คนใดคนหนึ่ง ต้องรับภาระ ในการเลี้ยงดูลูกคนเดียว จากครอบครัว ที่เคยอยู่ พร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็เหลือเพียง พ่อหรือแม่ กับลูก ผลที่เกิดจากการที่ลูก ต้องมีพ่อแม่ เพียงคนเดียว จะทำให้ลูก เกิดความรู้สึกเศร้า หดหู่ และเสียใจ ที่พ่อหรือแม่ ต้องพลัดพรากจากไป ลูกจะมีความรู้สึกว่า ชีวิตไม่มั่นคง ไม่มีหลักประกันในชีวิต และรู้สึกว่า เขาไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้ ซึ่งเขาจะรู้สึกกลัว และอ่อนแอ ขาดความยอมรับนับถือตนเอง ว่ามีคุณค่า และอาจกลายเป็นเด็กขาดรัก ซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกต่อไป
เตรียมความพร้อมลูกให้ยอมรับการพลัดพราก
ก่อนที่พ่อหรือแม่ต้องพลัดพรากจากลูก จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อน เพื่อป้องกันปัญหา ที่จะเกิดต่อเนื่องตามมา วิธีการเตรียมความพร้อม ให้กับลูกนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการแยกกันอยู่ ของพ่อแม่ ซึ่งมีอยู่หลายกรณีด้วยกัน
กรณีที่พ่อหรือแม่ ต้องพลัดพรากจากไปชั่วคราว หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไปทำงานในที่ไกลๆ เป็นระยะเวลานาน พ่อหรือแม่ที่จะไป ควรจะรักษาสัมพันธภาพ ให้มีการติดต่อสื่อสารกับลูก อย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกรู้สึกว่า 'แม้กายห่างไกล แต่ใจยังอยู่ใกล้' ซึ่งต้องมีการติดต่อกับลูก อย่างสม่ำเสมอ และควรจะพยายาม หาทางมาพบลูกบ้าง ส่วนพ่อหรือแม่ ที่อยู่กับลูก ควรจะทำให้ลูกมั่นใจเสมอว่า คนที่จากไปนั้น จะต้องกลับมาแน่นอน
กรณีที่พ่อแม่เสียชีวิต จะต้องมีการบำบัดฟื้นฟู สภาพจิตใจของลูก (และพ่อหรือแม่ ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย) เพราะลูกไม่สามารถยอมรับ หรือเข้าใจ หากพ่อหรือแม่ เสียชีวิต ตั้งแต่ลูก อายุไม่เกิน 6 เดือน อาจจะไม่มีผลมากนัก ซึ่งอาจจะไม่ต้องทำการบำบัด เพราะลูกยังไม่มี Attachment (ความผูกพัน) กับใคร แต่อย่างไรก็ดี ลูกจะมีความสูญเสีย ซึ่งจะต้องทำให้ลูกรู้ว่า เขายังมีคนที่รัก และดูแลเขาเสมอ แต่หากลูกโตพอ ที่จะรู้ว่าพ่อหรือแม่ตาย จะต้องมีกระบวนการ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (Cognitive Processing) เพื่อให้ลูก ยอมรับความเป็นจริงให้ได้ว่า พ่อหรือแม่ ไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว และลูกยังมีพ่อหรือแม่ ที่ยังอยู่ที่จะรักลูก และอยู่กับลูก พร้อมที่จะดูแลลูก ตลอดไป
กรณีที่พ่อแม่หย่ากัน เพราะเข้ากันไม่ได้ ก่อนหย่า พ่อและแม่ ต้องชี้ให้ลูกเห็นว่า คนเรา ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลา ให้เด็กรู้ว่า ความเป็นสามีภรรยา และความเป็นพ่อแม่นั้น แยกออกจากกัน ถึงแม้ว่า ความเป็นสามีภรรยา จะสิ้นสุดลง แต่ความเป็นพ่อแม่ ยังคงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น พ่อกับแม่ยังคงเป็นพ่อกับแม่ ของลูกอยู่เสมอ
กรณีที่พ่อแม่หย่ากัน เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไปมีคนอื่น ลูกจะยอมรับไม่ได้ จะมีอาการปฏิเสธต่อต้าน คนที่แยกออกไป ซึ่งจะต้อง ทำการบำบัดฟื้นฟูเด็ก เพราะลูกจะไม่เข้าใจ ไม่สามารถยอมรับได้ และเกิดความรู้สึก ไม่มั่นคงทางจิตใจ (insecure) ลูกจะรู้สึก เก็บกดรุนแรง และรู้สึกว่า ตนเองไม่มีค่า ซึ่งเขาจะแสดงออกมา ในลักษณะโกรธ เกลียด แต่ลึกๆ แล้ว เขาต้องการความรักจากคนๆ นั้น
พ่อหรือแม่คนเดียวจะเลี้ยงลูกอย่างไร
ก่อนอื่น ต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ให้ตนเองก่อนว่า ความขัดแย้งระหว่างเรา กับคู่ครอง ไม่ใช่เรื่อง ที่ลูกต้องเข้ามา ร่วมรับผิดชอบ พยายามวางตัวเป็นกลาง เมื่อจำเป็นต้องพูดถึง ฝ่ายตรงข้าม และงดเว้น การวิพากษ์วิจารณ์ อดีตคู่ครอง ให้ลูกฟัง และสอนให้ลูก หัดมองบุคคลอื่น ในทางบวก
นอกจากนี้ การที่พ่อหรือแม่คนเดียว จะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้นั้น ยังต้องสอดคล้องกับเพศ และวัย ของลูกอีกด้วย
วัยเด็กเล็ก (แรกเกิด-6 ปี) ในช่วงแรกของชีวิตลูก
พ่อหรือแม่ที่อยู่กับลูก จะต้องแสดงบทบาทที่ครบวงจร ในฐานะที่เป็น ทั้งพ่อและแม่
วัยก่อนวัยรุ่น (7-12 ปี)
ลูกจะเริ่มเรียนรู้เรื่องเพศ และเริ่มสะสม การพัฒนาการเรื่องเพศ เพราะฉะนั้น ลูกควรจะได้เรียนรู้ ความสัมพันธ์ของแต่ละเพศ ในครอบครัว กรณีนี้ หากพ่ออยู่กับลูกชาย ให้พยายามหาคน มาแสดงบทบาทของผู้หญิง มาช่วยให้ลูกเรียน และเสริมบทบาททดแทน เช่น ย่า ยาย ป้า น้า อา แต่ถ้า แม่อยู่กับลูกสาว ให้หาคน มาแสดงบทบาทผู้ชาย มาช่วยให้ลูกเรียนรู้ และเสริมบทบาททดแทน เช่น ปู่ ตา ลุง น้า อา แต่ถ้า แม่อยู่กับลูกชาย หรือพ่ออยู่กับลูกสาว ให้หาคนเพศเดียวกับลูก มาชดเชย ในส่วนที่พ่อหรือแม่ ขาดไป เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ ถึงบทบาทของเพศตนเอง ซึ่ง gender (ความสัมพันธ์ของคน ที่มีเพศที่แตกต่างกัน) เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด สำหรับพัฒนาการ ด้านครอบครัวของเด็ก เขาจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้ตนเอง มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเพศตน รวมทั้งการปรับตัว ให้สามารถดำเนินชีวิต กับเพศตรงข้าม ได้อย่างสอดคล้อง และมีสมดุล
วัยรุ่น (13 ปีขึ้นไป)
ลูกจะต้องการคน guidance คือ คนชี้แนะ มากกว่าคนสอน เพราะช่วงวัยนี้ จะเป็นวัยที่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งพ่อหรือแม่ที่อยู่กับเขา ต้องพึงระวัง ไม่ไปจุกจิกจู้จี้กับลูก มากจนเกินไป ส่วนใหญ่พ่อแม่รายเดียว ที่อยู่กับลูก อาจจะรักลูก มากเกินไป เพื่อทดแทน คนที่เขาเสียไป อาจทำให้เข้าไป จู้จี้กับลูกมาก ดังนั้น พ่อแม่ควรจะทบทวน และวิเคราะห์ตัวเองด้วย นอกจากนั้น พ่อหรือแม่ ไม่ควรนำความเลวร้าย ของอีกฝ่ายหนึ่ง มาพูดให้ลูกฟัง โดยเด็ดขาด เพราะลูกวัยรุ่น จะอ่อนไหวมาก อาจทำให้ลูก ไม่ต้องการอยู่บ้าน และเกิดปัญหาตามมาได้
เพียงเท่านี้ ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ก็จะกลายเป็นครอบครัว ที่สมบูรณ์ได้ หากเพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ ได้เตรียมตัว และวางแผนในการเลี้ยงดูลูก เอาไว้อย่างรอบคอบ ในทางกลับกัน หากคุณพ่อคุณแม่ ได้เตรียมตัวล่วงหน้า นอกจากครอบครัว จะสูญเสีย คนใดคนหนึ่งไปแล้ว อาจจะต้องสูญเสีย สมาชิกในครอบครัว คนอื่นไปด้วย เพียงเพราะความไม่เข้าใจ ซึ่งจะนำพาปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
แล้วเมื่อนั้น...คุณจะหาความผาสุกในครอบครัวได้หรือ?


อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ

ความฉลาดสำหรับโลกอนาคต



เคยสงสัยไหมคะว่า คนที่จะอยู่ต่อไปในโลกอย่างดีในโลกยุคหน้า ต้องมีคุณสมบัติ หรือลักษณะอย่างไรบ้าง...และเราจะเตรียมลูกของเราอย่างไรให้เขาดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่แค่อยู่รอดได้นะคะ แต่อยู่ได้อย่างสง่างาม ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขามุ่งหวัง แถมยังมีความสุข และเหลือเวลาพร้อมด้วยทรัพย์สินที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้อีกต่างหาก..
แต่เราจะทำอย่างไรดีคะ ที่จะให้เด็กๆ ของเรามีความพร้อมที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ในเวลาที่เราไม่ได้อยู่ดูแลเขาอีกต่อไปแล้ว คำถามนี้ มีคนๆ หนึ่งลองตอบได้น่าสนใจมาก...ท่านอาจารย์คนเก่งของหนูดีเอง ที่ฮาร์วาร์ด ชื่อ ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ เพิ่งเขียนหนังสือเล่มใหม่เอี่ยม ชื่อ Five Mind for the Future ซึ่งท่านเซ็นชื่อหน้าปกและส่งมาอ่านให้หนูดีอ่านเล่นที่บ้าน แทนคำขอบคุณที่หนูดีส่ง “ผ้าพันคอไหมไทย” ไปให้ท่านสวมหน้าหนาว ...ซึ่งจริงๆ แล้ว ผ้าผืนนั้น เป็นผ้าปูโต๊ะขนาดเล็กและยาวค่ะ หนูดีเห็นท่านพันคอไปแล้วเลยไม่กล้าแก้ความเข้าใจผิดกับท่าน...แต่แอบเอามาเขียนถึงดีกว่าค่ะ แก้คิดถึง
หนังสือเล่มนี้สนุกมาก...อ่านเพลินเลย เพราะอาจารย์หนูดีชวนคุยว่าในโลกยุคหน้า คนเราต้องเก่งด้านไหนบ้าง ต้องคิดถึงให้ได้แบบไหนบ้างถึงจะอยู่รอดอย่างประสบความสุขความสำเร็จสูงที่สุดด้วย ถึงแม้ท่านจะเป็นเจ้าของทฤษฎีเรื่องอัจฉริยภาพหลายประการ แต่ท่านไม่ได้พูดถึงอัจฉริยภาพเป็นเรื่องใหญ่เลย
มาดูกันไหมคะว่า มีความฉลาดอะไรบ้างที่เราน่าฝึกลูกๆ (และรวมถึงตัวเราด้วย) ให้เก่งกาจ...แต่ดูแล้ว ให้ยึดหลักกาลามสูตรนะคะ ว่าอย่าเชื่อไปทั้งหมด ในห้าความคิดนี้ อาจจะมีด้านที่หก ที่คนเขียนมองพลาดไปแล้วลืมเขียน อาจจะมีด้านไหนที่ไม่จำเป็น หรืออาจจะไม่น่าจะจำเป็นทั้งห้าด้านเลยก็ได้ค่ะ...การอ่านไป ตั้งคำถามไป เป็นนิสัยที่หนูดีถูกอาจารย์ท่านนี้ล่ะค่ะ ฝึกมาตลอดปีเลยว่า ห้ามเชื่อทฤษฎีไหนง่ายๆ แค่เพราะมันน่าเชื่อ อย่าเชื่อแค่เพราะอาจารย์เราเป็นคนบอก อย่าเชื่อแค่เพราะคนพูดเป็นคนดัง ฯลฯ... เพราะหากเราฝึกคิดแบบนี้ แล้วเห็นช่องโหว่ได้...วันหนึ่งเราเอง ก็อาจเป็นคนคิดค้นทฤษฎีใหม่ๆ มาอุดช่องโหว่นั้นเองก็ได้นะคะ
Disciplined Mind สมองคิดเก่งในสาขาที่เราเลือก
ความคิด ความเก่ง และทักษะแรกนี้จำเป็นมากค่ะ...เมื่อเราเลือกเรียนอะไร เลือกทำอาชีพอะไร เราจำเป็นต้องเก่งและรู้รอบในสาขาวิชาชีพเราให้มากและดีที่สุด เช่น ถ้าเราเลือกเป็นหมอ ก็ให้เป็นหมอที่เก่งมากๆ เลือกเป็นคนขายต้นไม้ ก็ต้องเชี่ยวชาญรู้จักต้นไม้ทุกชนิดทุกพันธุ์ รู้จักการเลี้ยงดู การเพาะ ให้ครบถ้วน เพราะในการที่เราจะเก่งรอบด้านได้ เราต้องเก่งลึกก่อน คือ รู้ให้หมด ในสิ่งที่เป็นของเราอย่างแท้จริง
ดังนั้นตอนเลือกหนแรกที่นี่ล่ะค่ะที่สำคัญ เพราะนี่คือบ้านหลังแรกของเราเป็นบ้านที่เราต้องดูแลให้ดีที่สุด..และการเลือกสาขาที่จะเรียนนี้เราก็ต้องย้อนมาดูที่ความชอบหรือความถนัดของเราว่า มันคืออะไร ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลค่ะ บางคนบอกว่า การค้นหาตัวเองเป็นเรื่องยากนั้น มักเป็นคนที่เลือกวิธีผิด คือการวิ่งไปมา ทุกที่เพื่อหาตัวเอง ทั้งๆ ที่ตัวเขาก็อยู่ที่นั่น รอเขาอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น หน้าที่แรกที่เราต้องฝึกให้ลูกก็คือ การนิ่งและมองให้ดีว่าอัจฉริยภาพที่เรามีติดตัวมาคืออะไร และเราจะพัฒนาเขาต่อไปได้อย่างไร มันอาจจะเป็นด้านดนตรี ภาษา ธรรมชาติ ฯลฯ หรืออาจจะหลายด้านรวมกันก็ได้ค่ะ
Synthesizing Mind สมองคิดสังเคราะห์ข้อมูล
นั่นแน่...เก่งด้านเดียวไม่พอแล้วสำหรับโลกยุคหน้าค่ะ เพราะว่าคำว่า “รู้อะไรกระจ่างแม้อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” หนูดีต้องขอต่ออีกหน่อยว่า รู้ให้กระจ่างสักสองสามอย่างจะดีกว่าค่ะ สมองของเราไหว สบายอยู่แล้ว...โดยเฉพาะสมองเด็กๆ เพราะเขาชอบเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน
ในโลกยุคหน้า คนทำงานส่วนใหญ่จะมีโอกาสเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพเฉลี่ยคนละห้าครั้งเชียวนะคะ เราเรียนจบมาด้านไหน หลายคนก็ไม่ได้ทำงานด้านนั้น หรืองงานหลายอาชีพก็ต้องใช้ความรู้หลายสาขาวิชามารวมกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนูดีเลยค่ะ อาชีพหนูดีเป็นสาขาใหม่เรียนว่า Mind, Brain, and Education จะว่าหนูดีเป็นหมอ ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว จะวาหนูดีเป็นนักจิตวิทยา ก็ไม่เชิง จะว่าเป็นนักการศึกษา ก็ไม่ใช่ทั้งหมด... และนี้เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากค่ะ ฝันยุคนี้ คือ การเกิดอาชีพใหม่ๆ จากการนำอาชีพดั้งเดิมมาผสมกัน ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่พวกเราสะสมกันไว้ในฐานะมนุษยชาตินั้นเยอะมาก การจำกัดตัวเองไว้ในกรอบวิชาเดียว จึงเป็นการจำกัดศักยภาพมนุษย์ ดังนั้น คนเก่งยุคหน้า เลยควรรู้หลายสาขาเพื่ออุดช่องโหว่ของสาขาวิชาเดียว...ในโลกยุคของลูกเรา เราคงได้เห็นอาชีพแปลกๆ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ...น่าตื่นเต้นดีนะคะ
Creating Mind สมองคิดสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ
รู้รอบหลายสาขาวิชา...ที่สำคัญที่สุด คือการคิดค้นสิ่งใหม่ แนวคิดใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ค่ะ เพราะการรู้อย่างเดียว...รู้แล้วความเก่งจบลงแค่ที่ตัวเราก็น่าเสียดาย แต่ถ้าหากเราสามารถนำความเก่งนั้น มาสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้โลกได้ คงคุ้มค่าน่าดูค่ะ ...เพราะฉะนั้น หากเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราอาจคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ให้วงการศิลปะก็ได้ เช่น หนูดีเพิ่งเห็นนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง คิดค้นนำขยะดีๆ มาผลิตเป็นกระเป๋าดีไซน์สวย น่าใช้เชียว... นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการคิดไดเยี่ยมสำหรับโลกยุคหน้าค่ะ
เพราะถ้าแค่รู้ข้อมูล... เราก็ฝึกลูกหรือลูกศิษย์ให้เป็นได้ก็แค่เพียงผู้บริโภคข้อมูล แต่ข้อมูลจะมีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกเสพก็เมื่อเราสามารถเอาสมองของเราเป็นเครื่องแปลและแปลข้อมูลได้ เปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์แบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
Respectful Mind สมองคิดให้เกียรติคน
ฉลาดแล้ว ทักษะเยี่ยมแล้ว... ไม่น่าจะพอแน่ๆ สำหรับโลกยุคหน้า เพราะการให้เกียรติคนและการถ่อมตัว เป็นนิสัยที่อัจฉริยะทุกคนต้องฝึกให้มีค่ะ... หนูดีเข้าเรียนฮาร์วาร์ดวันแรก สิ่งแรกที่ได้ยินคือปีนี้ขอให้นักเรียนใหม่ทุกคน ฝึกนิสัยให้เป็นคนถ่อมตัว เพราะคนเก่งที่ให้เกียรติใครไม่เป็น... ในที่สุดแล้วไม่มีใครอยากให้เกียรติเขา และผลงานดีๆ ก็จะมีออกมาไม่ได้ เพราะหาเพื่อนเก่งๆ ดีๆ ร่วมทำงานวิจัยด้วยไม่ได้เป็นคำสอนที่มีค่ามาก... เพราะวันหนึ่งที่เราเป็นคนเก่งมาก ก็จะมีคนชมมาก หากเราไม่รู้จักการประมาณใจให้ถ่อมตัวเสมอ เราก็จะเหลิงและลืมไปว่าทุกคนในโลกนี้คืออัจฉริยะทั้งนั้น ทุกคนเก่งทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เขาเก่งด้านไหนเท่านั้นเอง... ว่าไปแล้ว บทเรียนการถ่อมตัวถ่อมใจ เป็นหนึ่งในบทเรียนที่หนูดีถือว่ามีค่าที่สุดจากฮาร์วาร์ดค่ะ
Ethical Mind สมองคิด มีคุณธรรม เห็นความเชื่อมโยงถึงการกระทำของเรากับผู้อื่น
คนเก่งทีได้รับการกล่าวถึงอย่างชื่นชมในยุคนี้ ไม่ใช้คนที่แค่ประสบความสำเร็จเรื่องงาน หาเงินได้เยอะเท่านั้นนะคะ แต่คนที่ใครๆ รักและชื่นชม มักเป็นคนเก่งที่คิดถึงสังคมโดยรวมเป็น... บางคนเรียกทักษะนี้ว่า “คุณธรรม” แต่หนูดีชอบเรียกว่า “การเห็นว่า พฤติกรรมของเรามีผลกระทบได้ทั้งทางดีลางร้ายกับผู้อื่น”
การคิดแบบให้เกียรตินั้น เรามักจะทำกับอื่นอีกคนเดียว แต่การคิดแบบ “คุณธรรม” จะเป็นการคิดถึงคนเป็นร้อย เป็นหมั่น เป็นล้านเลยทีเดียวว่า การกระทำของเราจะกระทบกับคนอื่นอย่างไร....เช่น หากวันหนึ่ง เราได้เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราจะทำอย่างไรกับน้ำเสียของโรงงาน หากเราได้เป็นนักการเมือง เราจะทำอะไรกับเงินภาษีปีละเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน คนเก่งแบบนี้ มีตัวอย่างที่ดีคือ คุณบิล เกตส์ ซึ่งรวยอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันหลายผี แต่ทุกวันนี้ ชีวิตของเราเป็นการกุศลและมีเป้าหมายว่า อยากบริจาคเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของรายได้ ทำเป็นโครงการต่างๆ ที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น... น่าทึ่งมากนะคะ ที่คนๆ หนึ่ง สร้างอาณาจักรมหึมานี้มาจากศูนย์ และวันหนึ่งจะนำเงินจากแหล่งนี้กลับคืนให้โลก
โลกยุคหน้า คงไม่ใช่โลกที่น่าอยู่นัก หากแต่ละคนคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว
ในการเป็นพ่อแม่ที่ดี คงไม่ใช่แค่การสอนให้ลูกเก่งวิชา สอบได้เกรดสี่เท่านั้น แต่เป็นการสอนให้เขาใช้สมองเขาได้เต็มคุณค่า และรู้ว่าจะใช้สมองนั้นไปทำไมทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อสังคม... เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลยนะคะ แต่หนูดีว่า การเลี้ยงลูกให้ดี เป็นการให้ของขวัญที่ดีที่สุดกับโลกแล้วค่ะ... นี่เป็นคำที่หนูดีได้ยินเสมอจากแม่ของหนูดีว่า หนูดีเป็นของขวัญมีค่าที่สุดที่แม่มอบให้โลก... และหนูดีเชื่อว่า พ่อแม่คนไหนคิดได้แบบนี้ไม่มีทางที่จะเลี้ยงลูกผิดพลาดค่ะ และเด็กคนนั้นจะมีความสุขมากกับความเก่งของเขา
Brain Tips
เทคนิคสนุกๆ อันหนึ่งของการสอนลูกให้ถ่อมตัว คือ การให้เขาลองเรียนอะไรใหม่ๆ ทุกปี โดยอาจจะคงกิจกรรมด้วยเดิมไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเขาเรียนบัลเลย์อยู่ก็ให้เรียนต่อเนื่อง แต่ปีนี้อาจให้เพิ่มเรียนศิลปะ ปีหน้าให้ลองเรียนเต้นละติน อีกปีให้ลองเรียนเทควันโด.. เปลี่ยนไปเรื่อยๆ บ้างค่ะ เพราะเด็กๆ จะไดใช้กล้ามเนื้อมัดที่แปลกออกไป ได้ลองก้าว ลองหมุนตัวแบบที่ไม่เคยหมุน... แต่ประโยชน์ที่แท้จริงคือ การที่เขาจะรู้ว่า โลกนี้ยังมีคนเก่งอีกเยอะแยะ มากมายหลายแบบ...และเราไม่ใช่คนเดียวในโลกที่เก่ง...ถ้าทำได้แบบนี้ เขาจะมีคนให้ทึ่งใหม่ๆ ทุกปี ว่า ครูคนนี้ปั้นดินเก่งจัง โอ้โห เพื่อนใหม่คนนี้ หมุนตัวตามจังหวะซัลซ่าได้ตั้งสามรอบ ในขณะที่เขาหมุนแล้วเซทั้งๆ ที่ในห้องบัลเลย์เขาคือ เด็กเก่งที่สุด...ให้เด็กลองด้วยตัวเองแบบนี้ รับรอง ถ่อมตัวอย่างน่ารักและเป็นธรรมชาติแน่นอนค่ะ


แหล่งที่มาของข้อมูล...นิตยสารบันทึกคุณแม่ ฉบับที่ 172 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2550

โดย หนูดี วนิษา เรซ

EQ กับ IQ อะไรสำคัญกว่ากัน



ถ้าถามคุณผู้อ่านว่า อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง EQ กับ IQ คนส่วนใหญ่มักคิดว่า เรื่องของ IQ สำคัญกว่า EQ แต่ความจริง คือ \"ความสำเร็จของบุคคลมาจาก IQ เพียงร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นเรื่องของอีคิวทั้งสิ้น\" เป็นสิ่งที่แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เผยแพร่แนวคิดนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า เด็กที่มี EQ สูงจะประสบผลสำเร็จในชีวิตมากกว่า ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่นำมาซึ่งความสำเร็จ ความเติมเต็มและความสุขของชีวิต
เพราะฉะนั้น การเลี้ยงดูเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ยิ่งยุคนี้เป็นยุควัตถุนิยม พ่อแม่คิดว่าการให้วัตถุแก่ลูกคือความรัก แต่ความจริงไม่ใช่ การให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับลูกไม่ได้แสดงว่าพ่อแม่รักลูก แต่สิ่งที่ลูกต้องการคือความรักที่มาจากจิตใจ การให้ความใกล้ชิด การสัมผัส การโอบกอด ให้ความชื่นชมเมื่อลูกทำความดี ฝึกสอนสิ่งที่ถูกต้อง เช่น รู้จักอดทนรอคอย รู้จักเห็นใจเข้าใจคนอื่น มีวินัย ควบคุมตนเองได้ ฯลฯ พ่อแม่ต้องรับฟัง เมื่อลูกมีปัญหา และให้คำแนะนำเมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือ ต้องการแก้ไขปัญหา ตักเตือน หรือลงโทษ เมื่อลูกทำผิดหรือไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ฝากไว้กับพ่อแม่ค่ะ
ที่มา คอลัมน์ สดจากจิตวิทยา ข่าวสดรายวันวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6147
โดย นันท์นภัส ประสานทอง/กรมสุขภาพจิต

เด็กพิเศษ (4)



ในมาตรา 18 ยังได้ระบุให้ศูนย์
บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการและเด็กซึ่งมี
ความต้องการพิเศษ ต้องมีการจัดการศึกษาปฐมวัย และ
การศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กด้วย โดยมาตรา 37 ได้กำหนด
ให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความ
บกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม
การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพลภาพ
เป็นหน้าที่ของเขตการศึกษา ซึ่งหากไม่สามารถจัดได้
กระทรวงศึกษาธิการสามารถเข้าไปจัดเพื่อเสริมการบริหาร
และการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาได้
การจัดการศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องด้านใด
ด้านหนึ่งนั้น นับว่ามีการขยายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เนื่อง
จากมีองค์การรับผิดชอบการดำเนินงานที่ชัดเจน คือ
คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาเพื่อคนพิการ คนด้อยโอกาส
และคนที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งมีการดำเนินงานด้าน
นโยบายทางด้านกฎหมาย กฎกระทรวง รวมทั้งกองทุน
การศึกษาสำหรับคนพิการ นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ
วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ยังได้จัดสรรเงินรายหัวสำหรับ
นักเรียนพิการ ให้ได้รับอุดหนุนรายหัวเช่นเดียวกับนักเรียน
ปกติ โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับเด็กพิการด้วย ในปีการ
ศึกษา 2545 ได้มีการออกระเบียบและประกาศใช้ระเบียบ
ว่าด้วยกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กพิการ พ.ศ.2546 จัดสรร
เงินอุดหนุนทางการศึกษาให้แก่ศูนย์ทางการศึกษา สนับสนุน
ครุภัณฑ์ให้โรงเรียนแกนนำการศึกษาพิเศษ และสนับสนุน
ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพการพิการของเด็กพิการด้วย
2. ทำอย่างไรจึงจะมีครูที่ได้รับการฝึกฝน เฉพาะ
ทางด้านการดูแลเด็กพิเศษ เพื่อที่จะสามารถช่วยให้เด็ก
เหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่เขามีอยู่
ปัจจุบันประเทศไทยมีครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้
น้อยมาก สมควรที่รัฐจะให้การส่งเสริมเป็นพิเศษควบคู่ไป
กับการลงทุนด้านการจัดตั้งโรงเรียน สถาบันหรือจัดระบบ
ให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเด็ก
พิเศษเหล่านี้
องค์ประกอบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพ
ของการศึกษาพิเศษ และเป็นปัญหาหลักของประเทศ
ปัจจุบันครูที่มีคุณวุฒิทางด้านนี้โดยตรงมีน้อยมาก โดย
เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กและปัญหาของเด็ก
การจัดการศึกษาพิเศษยังต้องพึ่งครูในระบบปกติ ซึ่งมักไม่
ได้รับการฝึกฝนเฉพาะทางด้านนี้มาก่อน กอปรกับจำนวน
เด็กปกติที่ครูต้องดูแล มีมากเกินกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว
คุณภาพของการจัดการศึกษาจึงหวังได้ยาก ดังนั้น ทาง
กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
ขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) ขึ้น โดยจัด
สรรทุนการศึกษาแก่นักเรียนให้ศึกษาในสาขาวิชาที่สำคัญ ๆ
8 สาขา ตามแผนการผลิตครู (พ.ศ. 2547 – 2549) และ
สาขาการศึกษาพิเศษเป็น 1 ใน 8 สาขาที่ได้รับการสนับสนุน
ดังกล่าว เป็นจำนวน 200 ทุน ต่อปี ดังนั้นภายในปี
2550 ประเทศไทยจะมีครูเฉพาะทางด้านการศึกษาพิเศษ
จำนวน 600 คน นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ครูจำนวน 600 คน ดังกล่าวเมื่อเทียบกับ
ความต้องการของเด็ก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนแสนก็ยังไม่
เพียงพอ จึงควรที่หน่วยงานเอกชนทั้งหลายจะเข้ามาร่วม
ให้การสนับสนุนให้มากขึ้น
3. ทำอย่างไรครูประจำการจึงจะได้รับการพัฒนา
อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำอย่างไร
ครูจึงจะมีโอกาสได้เพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ขณะปฏิบัติงาน ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถสร้างวัฒนธรรม
แห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับครูไทย ไม่ว่าจะเป็นครูของเด็ก
ปกติหรือเด็กพิเศษก็ตาม


การพัฒนาคุณภาพของครูนั้น หน่วยงานที่
ทำหน้าที่ผลิตครูและหน่วยงานที่ใช้ครู ควรให้ความสนใจ
ในการพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการที่หลาก
หลาย เช่น การประชุม อบรม สัมมนา การนิเทศการ
เรียนการสอน การได้รับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการได้รับการ
สนับสนุนด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ สื่อ หนังสือและวัสดุ
ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานและการพัฒนาความรู้ความ
เข้าใจ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
เนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาเป็นกฎหมายที่
มีผลบังคับใช้ดังนั้น จึงเป็นที่อุ่นใจได้สำหรับพ่อแม่
ผู้ปกครอง ในระดับหนึ่งว่า เด็กไทยที่มีความต้องการพิเศษ
เหล่านั้น จะมีสิทธิ์ได้รับการดูแล และได้รับการศึกษาขั้นพื้น
ฐานตามอัตภาพและศักยภาพของแต่ละคน เหมือนกับเด็ก
ปกติทั่วไป ซึ่งก็คงต้องคอยติดตามดูกันต่อไปว่า จะมีความ
ก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องไปมาก
น้อยเพียงใด ซึ่งเด็กพิเศษในปัจจุบันก็คงจะได้รับความ
พิเศษที่แตกต่างจากในอดีตอย่างแน่นอน ......

เด็กพิเศษ (3)



พอสรุปได้ว่า เด็กพิเศษ หรือเด็กที่มีความ
ต้องการพิเศษ หมายถึง เด็กที่มีความต้องการพิเศษทุก
ด้านทั้งใน ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การบริการ
ทางสังคม ซึ่งมีความแตกต่างไปจากเด็กปกติ ทั้งนี้เนื่อง
มาจากความผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม
สติปัญญาของเด็กนั่นเอง
ปรัชญาและแนวการจัดบริการช่วยเหลือเด็กที่มี
ความต้องการพิเศษ ยึดหลักการจัดแบบให้นักเรียนเป็น
ศูนย์กลาง 6 ประการ คือ
1. พัฒนาการของเด็กปกติ เน้นพัฒนาการของ
เด็กปกติ ซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้นทุก ๆ ด้าน เพื่อเป็นแนว
ทางให้ครูมีความเข้าใจเด็กทุกด้านดีขึ้น
2. พฤติกรรมมนุษย์ เน้นเรื่องการปรับพฤติกรรม
และการสอนทักษะที่เหมาะสมแก่เด็กแต่ละคน ทั้งต้อง
จัดการสอนให้เป็นไปตามลำดับขั้น และฝึกทักษะหรือให้
ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเอง
3. บูรณาการทฤษฎีต่าง ๆ เน้นการนำหลักการ
ของทฤษฎีต่าง ๆ มาผสมผสานกัน เช่น การนำเอาขั้นตอน
พัฒนาการเด็กของเพียเจต์มาผสมผสานกับทฤษฎีพฤติกรรม
แล้วนำมาเป็นแนวทางในการจัดหรือปรับหลักสูตรและเนื้อหา
วิชาการสอนและวิธีสอนที่เหมาะสมกับเด็ก
4. ทำงานร่วมกับแพทย์และนักวิชาชีพ โดยเน้น
ให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ว่ามีความ
บกพร่องด้านใดบ้าง เพื่อเป็นการช่วยให้การรักษา บำบัด
ได้เร็วขึ้น นอกจากแพทย์แล้ว ยังมีนักวิชาชีพสาขาอื่น ๆ
เช่น แพทย์เฉพาะทาง ครู นักจิตวิทยา นักกายภาพ
บำบัด นักอาชีวบำบัด ฯลฯ
5. ฝึกอบรมคณะทำงาน เน้นการฝึกอบรมให้แก่
ผู้ที่ทำงานร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้รู้จักการ
สังเกต และแปลความหมายพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เด็กเหล่านี้
แสดงออกมา ทั้งจะต้องราบวิธีการตอบสนองต่อพฤติกรรม
นั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องด้วย
6. เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลางให้ความสำคัญใน
ด้านความร่วมมือกับครอบครัว การจัดโครงการต่าง ๆ ให้
แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นจะประสบความสำเร็จได้
จะต้องได้รับความร่วมมือหรือสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่ง
การจัดบริการต่าง ๆ ต้องคำนึงและตระหนักถึงความแตกต่าง
ของแต่ละครอบครัว
1. เด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
มีอยู่ไม่น้อยในประเทศไทย เมื่อใดจึงจะได้รับการดูแลจาก
รัฐในฐานะที่เขาเป็นประชาชนคนหนึ่ง เขาควรจะมีสิทธิ์ที่
จะได้รับการศึกษาไปตามศักยภาพของเขา เช่นเดียวกับเด็ก
ปกติ ซึ่งขณะนี้ โรงเรียน สถาบันที่รับดูแลและพัฒนาเด็ก
เหล่านี้เพียงไม่กี่แห่ง มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการ
เด็กพิเศษที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ทั้งหลาย มักตกเป็นภาระ
ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องดิ้นรนดูแลกันไปตามยถากรรม
(ทิศนา, 2547)
ในประเด็นนี้ เรื่องของการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก
พิเศษนั้น หลังจากถูกละเลยมานาน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ได้ให้ความ
สำคัญในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ในมาตรา 10 หมวด 2 ว่า
ด้วยสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาความว่า “ มาตรา 10 การ
จัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอภาค
กันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐ
จัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การ
จัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย
จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการ
เรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือ ทุพลภาพ หรือบุคคลซึ่ง
ไม่สามารถดูแล หรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าว
มีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ...”

เด็กพิเศษ (2)



1. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน (Children with hearing impairment )
- เด็กที่สูญเสียการได้ยิน ในระดับหูตึงหรือหูหนวก
อาจจะสูญเสียการได้ยินมาตั้งแต่กำเนิด หรือ
ภายหลังก็ตาม ซึ่งการได้ยินเริ่มจากหูตึงน้อย
ปานกลาง ไปจนถึงระดับที่รุนแรง จนกระทั่งหู
หนวก หรือไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ แม้จะมีเสียงดัง
เพียงใดก็ตาม
2. เด็กที่มีความความบกพร่องทางสติปัญญา (Children with mental retardation)
- เด็กที่มีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติทั่วไป เมื่อวัด
ระดับสติปัญญาโดยใช้แบบทดสอบมาตรฐาน
มีข้อจำกัดในทักษะด้านการปรับตัวอย่างน้อย
2 ทักษะใน 10 ทักษะ คือ การสื่อความหมาย
การดูแลตนเอง การดำรงชีวิต ทักษะทาง
สังคม การใช้สาธารณสมบัติ การควบคุม
ตนเอง สุขอนามัยและความปลอดภัย การ
เรียนวิชาการเพื่อการดำรงชีวิต การใช้เวลาว่าง
และการทำงาน ทั้งนี้ภาวะความบกพร่องทาง
สติปัญญานี้ต้องเกิดขึ้นก่อนอายุ 18 ปี ซึ่งสามารถ
จัดระดับความบกพร่องทางสติปัญญาได้เป็น 4
ระดับ คือ

ระดับที่ 1 ขั้นเล็กน้อย ระดับ I.Q. 50-60

ระดับที่ 2 ขั้นเล็กปานกลาง ระดับ I.Q. 35-49

ระดับที่ 3 ขั้นรุนแรง ระดับ I.Q. 20-34

ระดับที่ 4 ขั้นรุนแรงมาก ระดับ I.Q. น้อยกว่า 20


3. เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น (Children with visual impairment)
- เด็กตาบอด หรือเด็กที่มีสายตาเหลืออยู่น้อยมาก

4. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ (Children with physical impairment)
- เด็กที่มีอวัยวะไม่สมส่วน อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง
ของร่างกาย หรือหลายส่วนขาดหายไป กระดูก
และกล้ามเนื้อพิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง รุนแรง มี
ความพิการของระบบประสาท (nervous
system) มีความยากลำบากในการเคลื่อนไหว

5. เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม (Children with behavior disorders )
- เด็กที่ไม่สามารถเรียนหนังสือได้เช่นเดียวกับเด็ก
ปกติทั่วไป แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากองค์ประกอบ
ทางสติปัญญา การรับรู้ ความบกพร่องทาง
ร่างกายหรือสุขภาพ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ
เพื่อนได้ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับเพศและวัย
มีปัญหาทางอารมณ์ หรือแสดงอาการเจ็บป่วย
โดยมีสาเหตุมาจากจิตใจ ได้แก่ความวิตกกังวล
หรือหวาดกลัว


6. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (Children with learning disabilities )

- เด็กที่มีความบกพร่องในขบวนการทางจิตวิทยาทำ
ให้มีปัญหาด้านการใช้ภาษา ด้านการฟัง การพูด
การอ่านและการเขียน และการสะกดคำหรือมี
ปัญหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งปัญหา
ดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องทาง
ร่างกาย ทางการเห็น ทางการได้ยิน ทาง
สติปัญญา อารมณ์และสภาพแวดล้อม

7. เด็กสมาธิสั้น (Children with attention deficit/hyperactivity disorders

- เด็กที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่ง
ได้แก่ การขาดสมาธิ (inattention) พฤติกรรม
ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity ) ขาดความ
ยับยั้งชั่งใจหุนหันพลันแล่น ทำอะไรไม่คิดให้
รอบคอบ และพฤติกรรมที่แสดงออกไม่เหมะสม
กับวัย หากมีความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อการ
ดำรงชีวิต ประจำวัน การเรียนการปรับตัวในสังคม

8. เด็กที่มีความบกพร่องทางการสื่อความหมาย (Children with communication disorders)

- เด็กที่มีความบกพร่องในการเข้าใจหรือการใช้ภาษา
พูด จนไม่สามารถสื่อความหมายกับผู้อื่นได้
ตามปกติ เช่น การพูดไม่ชัด จังหวะการพูดไม่ดี
คุณภาพของเสียงผิดปกติ ตลอดจนการพูด
ผิดปกติที่เกิดจากการมีพยาธิของระบบประสาท
ส่วนกลาง หรือระบบประสาทส่วนปลาย มีความ
บกพร่องทั้งในด้านการรับรู้และการแสดงออกทาง
ภาษา
9. เด็กออทิสติก (Children with autism )

- เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือถดถอย แสดง
ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะ
แปลก ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการมองหน้าผู้อื่น ไม่
สบตา มีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อเสียงที่ได้ยิน การ
สัมผัส หรือความเจ็บป่วยในลักษณะที่มากเกินไป
หรือน้อยเกินไป หรือไม่แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อ
สิ่งเร้าใด ๆ ทั้งสิ้น มีปัญหาด้านการพูดและภาษา
ไม่สามารถแสดงการตอบโต้กับคน สิ่งของ หรือ
เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้


10. เด็กที่มีความพิการซ้ำซ้อน (Children with multiple handicapped )

- เด็กที่มีสภาพความพิการตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปใน
บุคคลเดียวกัน เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทาง
สติปัญญา รวมทั้งสูญเสียการได้ยิน หรือเด็กที่ตา
บอดและสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น และสภาพ
ความพิการนี้จะส่งผลให้เกิดการด้อยความสามารถ
ในการดำรงชีวิต ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการได้รับ
การศึกษาและการทำกิจกรรมต่าง ๆ

11. เด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Children with gifted / talented )

- เด็กที่แสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นด้านใด
ด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน ในด้านสติปัญญา
ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ
การสร้างงานศิลปะ ดนตรี กีฬา และความ
สามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือ
หลายสาขาอย่างเป็นที่ประจักษ์ เมื่อเปรียบเทียบ
กับเด็กอื่นที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อม
เดียวกัน

เด็กพิเศษ (1)



เด็กพิเศษ คือใคร คำถามนี้มักจะได้ยินบ่อย ๆ
หลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง เด็กพิเศษ
คือ เด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีความบกพร่อง
ทางร่างกาย และสติปัญญา ความบกพร่องนี้อาจจะเห็น
ด้วยตาเปล่า เช่น ตาบอด แขนขาพิการ การสังเกตเห็นได้
ว่าเป็นกลุ่มอาการดาวน์ ( Down ’ s syndrome ) จากทาง
หน้าตา ฯลฯ ชนิดที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ เด็กที่มี
ความบกพร่องทางการได้ยิน หูตึง หูหนวก เด็กออทิสติก
และเด็กบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้น เด็กพิเศษมักเป็น
ผู้ที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในมุมสลัว ๆ มุมหนึ่งของสังคม เป็น
กลุ่มที่นอกจากจะไม่ค่อยได้รับโอกาสแล้ว บางครั้งยังถูกกีด
กันทางสังคมด้วย วันนี้เราเริ่มหันกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับ
เขาเหล่านี้บ้าง เริ่มให้ความสนใจและเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ทรงมี
พระราชดำรัสถึงคนพิการ ดังความตอนหนึ่งว่า “งานช่วย
ผู้พิการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้พิการไม่ได้อยาก
จะพิการและอยากช่วยตัวเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถ
ปฏิบัติงานอะไร เพื่อมีชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว
จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น
นโยบายที่จะทำ คือ ช่วยให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เพื่อจะให้เขา
สามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ
เป็นล้นพ้นแก่คนพิการทั้งมวลก่อให้เกิดพลังในการดำรงชีวิต
อย่างมีเป้าหมายยิ่งขึ้น (ขวัญใจ, 2540)
แต่เดิมการเลี้ยงดูเด็กพิเศษที่มีปัญหาทางด้าน
ร่างกายและจิตใจ จะถูกจำกัดไว้ในครอบครัว ไม่เปิดโอกาส
ให้เด็กได้ออกมานอกบ้านหรือพบปะคนแปลกหน้า บาง
ครอบครัวถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย จึงทำให้เด็กพิเศษ
เหล่านี้ด้อยโอกาสและมีปรับตัวได้ยาก เมื่ออยู่ในสถานการณ์
ที่แปลกใหม่ หรืออยู่ในกลุ่มคนที่ปกติ จึงทำให้เด็กเหล่านี้
เกิดปมด้อย และเป็นการบั่นทอนจิตใจของเด็กอย่างยิ่ง
ปัจจุบันพ่อแม่ได้เปลี่ยนแปลงบทบาท และมีการเคลื่อนไหว
มากขึ้น ไม่เก็บตัวเงียบในครอบครัวกับปัญหาของตนเอง
อีกแล้ว พ่อแม่เริ่มแสวงหากลุ่มและแนวทางการเลี้ยงดูที่
เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของ
เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ ประกอบกับพ่อแม่ในยุคปัจจุบันจำกัด
การมีลูก และเมื่อมีความสำคัญของเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น ได้
จัดบริการด้านการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจน จากพระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีบทบัญญัติให้จัดการ
ศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้รับการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน โดยให้จัดตั้งแรกเกิด หรือแรกพบความพิการ

เด็กกับความรุนแรงในสังคมไทย



สังคมไทยจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กในสังคมไทยให้แจ่มชัดมากขึ้น เพราะการใช้ความรุนแรงในการดำเนินชีวิตได้คืบคลานเข้ามาอยู่กับเด็กไทยทุกขณะแล้ว กระแสการต่อต้านเกมส์ที่เน้นความรุนแรงและรัฐได้ปราบไม่ให้ร้านเกมส์มีเกมส์ประเภทความรุนแรงบริการเด็ก อันเนื่องมาจากกรณีเด็กนักเรียนอายุ ๑๖ ปล้นฆ่าแท็กซี่โดยยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากเกมส์ที่มีความรุนแรงเป็นสาระหลัก แม้ว่าการปราบปรามด้วยการใช้อำนาจรัฐเป็นเรื่องที่ควรจะทำ แต่สังคมไทยไม่ควรจะนิ่งนอนใจหรือพึงพอใจว่าได้ขจัดต้นตอการใช้ความรุนแรงไปได้แล้ว เพราะในความเป็นจริงนั้น การใช้ความรุนแรงของเด็กมีเงื่อนไขอื่นมากำหนดอีกมากมาย ตัวอย่างการก่ออาชญากรรมของเด็กวัยรุ่นที่กระทำต่อแท็กซี่และคนทั่วไปที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเล่นเกมส์มีมากมาย เช่น เด็กจี้แท็กซี่เพราะต้องการเอาเงินไปเที่ยวกลางคืน การตี ฆ่า ข่มขืน ของเด็กแซ็บ เด็กแว้นท์ (เด็กกวนเมือง) ที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของสังคมไทย หรือ เด็กผู้หญิงตบตีกันแล้วถ่านคลิปเอาไว้ “โชว์พาว” ข่มขู่เด็กอื่นๆ ตัวอย่างมากมายเช่นนี้ชี้ให้ตั้งคำถามได้ทันทีว่า เกมส์เป็นต้นตอความรุนแรงจริงหรือ หรือว่า เกมส์จะเป็นเพียงเงื่อนไขการกระตุ้นสำนึกของการใช้ความรุนแรงในการดำเนินชีวิตที่ฝังในเด็กวัยรุ่นไปเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ในสังคมไทยมักจะอธิบายปัญหาของเด็กวัยรุ่นต่างๆอย่างมักง่ายตลอดมา โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการโทษครอบครัวว่าครอบครัวแตกแยกหรือครอบครัวไม่มีเวลาให้แก่ลูกหลาน (ซึ่งตรงกับสำนวนไทยว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” นั่นเอง) จากนั้นก็ชี้นิ้วกล่าวโทษไปที่โรงเรียนว่าไม่เอาใจใส่ และเลื่อนนิ้วไปชี้ที่เพื่อนว่าเกิดจากการคบเพื่อนแล้ว และท้ายที่สุดก็มักจะโทษที่ปัจจัยภายนอกที่ท่านทั้งหลายเชื่อว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาในเด็กวัยรุ่น อันได้แก่ การเล่นเกมส์หรือการรับวัฒนธรรมตะวันตก การอธิบายแบบมักง่ายไร้ปัญญาของผู้ใหญ่ไทยได้ทำให้เกิดแบบแผนของการทำความเข้าใจความรุนแรงของเด็กวัยรุ่นที่ตื้นเขินขึ้นมา แต่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่ คำอธิบายเช่นนี้กลับมีอิทธิพลอย่างมาก และขยายตัวออกไปจนทั้งสังคมไทยเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆไปแล้ว การอธิบายเช่นนี้วางอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่มองไม่เห็นหรือไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยท่านเหล่านี้ยังคงเชื่ออย่างหักปักหัวปำว่าว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ดียิ่ง แต่ที่เกิดปัญหาก็เพราะว่าคนหรือเด็กวัยรุ่นลืม “วัฒนธรรมไทย” หันไปหลงใหลบางสิ่งบางอย่างนอกวัฒนธรรมไทยชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น การแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็คือ การรณรงค์ให้เด็กวัยรุ่นหันกลับมาหา “วัฒนธรรมไทย” การอธิบายเช่นนี้ ไม่ได้นำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาใดๆ ที่มีประสิทธิภาพแต่ประการใด ดังที่เราจะพบเห็นปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมาหลายสิบปี นอกจากจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจปลอมๆว่าได้ทำการแก้ไขปัญหาที่สำคัญยิ่งนี้ได้ด้วยการรณรงค์ความเป็นไทย งานวิจัยของอเมริกาที่พยายามจะพิสูจน์ว่าสื่อที่มีความรุนแรงมีผลต่อการใช้ความรุนแรงหรือไม่ งานวิจัยนี้พบว่ามีแนวโน้นที่เด็กที่ใช้ความรุนแรงอยู่แล้วจะนิยมเสพสื่อที่มีความรุนแรง หากแต่กลุ่มเด็กที่ไม่นิยมความรุนแรงแม้ว่าจะเสพสื่อความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้เด็กกลุ่มนี้หันมานิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา งานวิจัยของหน่วยราชการที่ดูแลคดีเด็กและเยาวชนของไทยเอง ก็เคยชี้ให้เห็นว่าร้อยละสี่สิบเจ็ด (ประมาณนี้แหละครับ หากจำตัวเลขผิดไปบ้าง ต้องขออภัยผู้วิจัยด้วย) ของเด็กที่ติดอยู่ในสถานพินิจนั้นมาจากครอบครัวปรกติ ไม่ใช่ครอบครัวแตกแยก ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าคำอธิบายแบบมักง่ายนั้นไม่จริง นักศึกษาท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เป็นคนชอบคิดชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ได้ให้ความเห็นว่า แม้เขาจะชอบเล่นเกมส์ความรุนแรง แต่เขาก็ไม่เคยมีความคิดในการก่ออาชญากรรมใดๆเลย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเกมส์ไม่ใช่ปัจจัยหลักอย่างแน่นอนการกล่าวโทษถึงการรับ “วัฒนธรรมตะวันตก” ยิ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้สาระที่สุด เพราะเราสามารถชี้ได้ในทุกปัญหาว่าเกิดจากการรับ “วัฒนธรรมตะวันตก” ประเด็นที่จำเป็นต้องสังวรให้มากก็คือ “อะไรที่อธิบายได้ทุกอย่างก็มีความหมายเท่ากับไม่ได้อธิบายอะไรเลย” ดังนั้น หากเราต้องการที่จะเข้าใจปัญหาเด็กวัยรุ่นจำเป็นต้องลืมหรือก้าวข้ามกรอบการอธิบายมักง่ายเช่นที่ผ่านมา คำถามหลักที่ต้องถามกันก่อนก็คือ การใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวันของเด็กวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้นกลายมาเป็น “บรรทัดฐาน” ของความสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กวัยรุ่นไทยนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามใหม่ที่ถามขึ้นโดยเน้นที่จะทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทำให้เกิด “บรรทัดฐาน” ซี่งหมายความว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อตวามหมายของการดำเนินชิวิตทีเดียว เราจำเป็นต้องตั้งคำถามกันใหม่เพราะการตั้งคำถามลักษณะนี้จะเอื้ออำนวยให้เราแสวงหาคำตอบที่จะอธิบายให้สังคมไทยเข้าใจทั้งความเปลี่ยนแปลงในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเด็กวัยรุ่นที่เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย การตั้งคำถามเช่นนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างความสัมพันธ์ทั้งหมดของสังคม และความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้เราสามารถมาองหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการประณามแบบเดิม สังคมไทยในวันนี้ไม่ใช่สังคมไทยแบบที่คนรุ่นอายุสี่สิบปีคุ้นเคย การอธิบายสังคมด้วยกรอบความคิดแบบเก่ารังแต่จะทำให้สังคมไทยงุ่มง่ามและไร้พลังในการแก้ไขปัญหา สังคมไทยจะเผชิญปัญหาใหม่ได้อย่างมีพลังก็เมื่อกล้าที่ตั้งคำถามใหม่ที่อาจจะท้าทายกรอบความคิดเดิม



ที่มา : อรรถจักร สัตยานุรักษ์

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ใต้กระแส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 8 สิงหาคม 2551

ของเล่นเด็ก



ของเล่นที่ดีมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กได้ รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โรงงานหลายแห่งพยายามคิดค้นและผลิตของเล่นที่มีคุณภาพ นอกจากให้ความสนุกสนานแล้ว ยังคำนึงถึงความปลอดภัยอีกด้วย แต่บางโรงงานก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องสรรหาของเล่นที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ และมีความปลอดภัยด้วย มีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ
- เลือกของเล่นให้เหมาะกับวัย ความสนใจ และทักษะในการเล่นของลูก
- เลือกของเล่นที่มีคุณภาพ ทั้งเรื่องการออกแบบ วัสดุ และส่วนประกอบต่างๆ
- มองหาเครื่องหมาย มอก. หรือเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- อ่านคำแนะนำและข้อห้ามต่างๆ ที่มาพร้อมกับของเล่นให้ดี ทำความเข้าใจวิธีการเล่น แล้วอธิบายให้ลูกฟังให้ดี
- ควรสังเกตเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ข้างกล่องด้วย เช่น "ติดไฟง่าย" คุณจะได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเวลาเล่นหรือเวลาเก็บ หรือของเล่นจำพวกตุ๊กตา ถ้ามีระบุไว้ว่า "ซักในเครื่องซักผ้าได้" คุณก็จะทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
- แกะกระดาษหรือพลาสติกห่อ แล้วทิ้งให้พ้นมือลูกทันทีก่อนที่ลูกจะนำมาเล่น เพราะเคยเป็นข่าวมาแล้วว่ามีเด็กกลืนพลาสติกห่อเข้าไปจนติดคอ
- ควรตรวจเช็คสภาพของเล่นขณะยังใหม่แกะกล่องว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ ก่อนจะส่งให้ลูกเล่น ของเล่นสำหรับเด็กไม่ควรมีเหลี่ยมมุมที่แหลมคม
- หลังจากนั้น หมั่นตรวจเช็คเป็นระยะๆ ว่ามีชิ้นส่วนใดแตกหักเสียหาย มีส่วนบิ่น คม ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ลูกหรือไม่ หากมีก็ควรรีบซ่อมแซมแก้ไข แต่หากซ่อมไม่ได้แล้ว ก็ควรทิ้งไปเสีย ไม่ต้องเสียดาย
- ของเล่นที่ทำจากไม้ ควรได้รับการขัดเรียบมาอย่างดี ไม่มีเหลี่ยมคมหรือเสี้ยนที่จะบาดมือได้
- ควรระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับของเล่นที่สามารถแยกชิ้นส่วนออกเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับเด็กได้ โดยเฉพาะในวัยที่หยิบทุกอย่างเข้าปาก อาจจะทำให้ติดคอ อุดหลอดลม เข้าจมูก หรือเข้าหู
- หลีกเลี่ยงของเล่นที่มีการยิงออกไปยังเป้า เช่น ปืนพร้อมลูกกระสุน ธนูและลูกธนู หรือลูกดอก ซึ่งจะเกิดอันตรายได้ง่าย ยิ่งหากเขามองหาเป้าหมายที่เป็นเด็กๆ ด้วยกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงของเล่นที่สามารถบินหรือกระเด็นได้ ซึ่งยากต่อการควบคุมทิศทาง
- สำหรับปืนเด็กเล่นนั้นควรพิจารณาให้ดีว่าควรซื้อให้เด็กเล่นหรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้ ของเล่นกับของจริงใกล้เคียงกันมาก หากที่บ้านมีปืนจริงซึ่งไม่ได้เก็บให้มิดชิด ก็มีโอกาสที่ลูกๆ จะหยิบมาเล่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ยังมีผู้กังวลถึงการบ่มเพาะนิสัยก้าวร้าวรุนแรงให้กับเด็กที่เล่นปืนอีกด้วย
- ของเล่นที่มีเชือกยาวก็สามารถเกิดอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากอาจทำให้สะดุดหกล้ม หรือรัดคอเด็กจนหายใจไม่ออก
- ของเล่นที่มีเสียง ควรตรวจสอบให้ดีว่าดังเกินไปสำหรับหูของเด็กหรือไม่
- หากจะทาสีของเล่นใหม่ไห้ลูก ควรใช้สีที่เพิ่งซื้อ เนื่องจากสีเก่าเก็บที่ถูกทิ้งไว้ในกระป๋องนานๆ มักจะมีสารตะกั่วมากกว่าสีที่ซื้อใหม่
- ของเล่นบางชนิดที่สำหรับไว้เล่นนอกบ้าน ควรเก็บให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ให้เกะกะขวางทาง และเก็บให้พ้นแสงแดดหรือน้ำฝน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด
- ควรตรวจสอบของเล่นที่เล่นกลางแจ้ง ว่าไม่เป็นสนิม ไม่เปราะหักหรืออ่อนตัวลง จนอาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกได้
- เก็บของเล่นสำหรับเด็กโตให้พ้นมือเด็กเล็ก เพราะอาจเป็นอันตรายได้ หากนำมาเล่นผิดวิธี
- นอกจากของเล่นแล้ว ที่เก็บของเล่นก็ต้องปลอดภัยเช่นกัน หากเป็นกล่องก็ควรมีน้ำหนักเบา หยิบยกได้ง่าย ฝาปิดไม่หนีบมือได้ง่ายๆ และไม่อับชื้น ซึ่งอาจจะทำให้ของเล่นขึ้นรา
- และสิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือการสอนลูกให้เก็บของเล่นให้เป็นที่เป็นทางทุกครั้ง นอกจากทุกคนในบ้านจะไม่สะดุดหกล้มหรือตกบันได เพราะของเล่นที่วางเกลื่อนกลาดแล้ว ยังเป็นการฝึกระเบียบวินัยให้กับลูกๆ ด้วย
เด็กจำนวนไม่น้อยที่เล่นของเล่นแบบแผลงๆ ผิดวิธีการเล่น หรือนำสิ่งที่ไม่ใช่ของเล่นมาเล่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น การกลืนวัตถุสิ่งของที่มีขนาดเล็กจนติดคอ หรือการนำถุงพลาสติกมาครอบศีรษะ
ดังนั้น เมื่อลูกเล่นอะไรก็ตาม ควรอยู่ในสายตาผู้ใหญ่เสมอ บางครั้งอาจมีเพื่อนๆ ของลูกมาเล่นด้วย พ่อแม่ก็ควรอธิบายวิธีการเล่นให้เพื่อนของลูกฟังด้วย

ถือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่นอกจากจะต้องเลือกของเล่นคุณภาพที่เหมาะกับลูกแล้ว ยังต้องดูแลขณะที่เด็กกำลังเล่นอีกด้วย ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันเด็กให้พ้นจากอันตรายที่เกิดจากของเล่นที่ดีที่สุด

การแบ่งเวลาเล่นของลูก



ลูกนัท อายุ 7 ขวบ กำลังขอคุณแม่ไปเล่นที่บ้านของน้องเจน ที่เป็นเพื่อนที่โรงเรียน และอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่คุณแม่ของลูกนัทตอบว่า ไม่ได้หรอกลูก เดี๋ยวเช้านี้ ลูกต้องไปเรียนเปียโน และตอนบ่ายก็จะต้องไปเรียนบัลเล่ต์ ส่วนเย็นนี้จะมีคุณครูพิเศษมาสอนเลข และภาษาอังกฤษที่บ้าน คุณแม่ลูกนัทลืมดูสีหน้าของลูก ที่กำลังทำหน้าเบื่อ และดูหมดหวังที่จะได้มีโอกาสไปเล่นกับเพื่อนๆ อย่างที่เด็กวัย 7 ขวบทั่วไปเขาทำกัน


จะเร่งเด็กกันไปถึงไหน
ตารางกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ จัดให้ลูกนัททำในแต่ละวันนั้น ดูดีมากในสายตาของพ่อแม่และถ้าลูกนัททำได้ตามนั้น ก็จะเป็นที่ชื่นชม แต่ลูกนัทเองอยากที่ทำอย่างนั้นจริงๆหรือไม่ การที่ลูกนัทได้ออกไปเล่นกับน้องเจน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนนั้น เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป จนอาจกลายเป็นเพื่อนสนิท ที่จะคอยช่วยเหลือกันต่อไปในอนาคต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่เด็กได้เล่นด้วยกัน ทำให้เด็กได้พักผ่อน พัฒนาทักษะของการอยู่ร่วมกัน และได้มีโอกาสสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก
พ่อแม่หลายคนอาจจะลืมนึกถึงประเด็นที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการที่ลูกนัท จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่พ่อแม่จัดให้ในแต่ละวัน ก็คือ การที่ลูกนัท จะได้มีโอกาสเลือกตัดสินใจ ในการทำกิจกรรม หรือการเล่น ด้วยตนเอง เมื่อเธอเองมีเวลาว่างของตนเองบ้าง เด็กจะได้ไม่รู้สึกเครียดหรือถูกกดดันอยู่ตลอดเวลา จากผู้ใหญ่จนตัวเองรู้สึกว่า ไม่สามารถทำอะไรได้ อย่างเป็นตัวของตัวเอง ทำให้รู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย และขาดความกระตือรือร้น (lack of motivation)
ผู้ใหญ่เราควรจะต้องถามตนเองว่า การที่เราจัดการให้ลูกได้เรียน และทำกิจกรรมต่างๆ เต็มไปหมดนั้นเพื่อลูก หรือเพื่อตัวเราเอง คุณพ่อคุณแม่หลายคนจำเป็นต้องเอาเด็กไปเข้ากิจกรรมต่างๆ เพราะตัวเองไม่มีเวลาให้ลูก เนื่องจากต้องทำงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งให้เด็กอยู่คนเดียวที่บ้าน หรือเพราะกลัวว่า เด็กจะช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ถ้าไม่ได้เรียนพิเศษเพิ่มเติมอีก และคุณพ่อคุณแม่หลายคน ก็จะตื่นเต้นดีใจ ที่ลูกทำอะไรได้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ เราจึงได้เห็นการเรียนพิเศษกันอย่างแน่นเอี๊ยด เพื่อที่จะให้เด็กนั้นสอบได้ดีกว่าคนอื่นๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การที่เด็กหมดสิทธิ์ที่จะเป็นเด็ก อย่างที่วัยของเขาควรจะเป็น เด็กเองไม่ได้มีโอกาสลองทำ หรือลองตัดสินใจทำอะไรเอง เพราะมีผู้ใหญ่ทำการตัดสินใจ และจัดการสิ่งต่างๆ ให้จนหมด ซึ่งในชีวิตจริงเด็กจำเป็นที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ในการที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง และประสบการณ์เหล่านี้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จได้ดีในอนาคต


จริงๆแล้วเด็กมีวิธีการในการเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างไร
ความกดดันทางสังคม ที่มุ่งเน้นเรื่องการสอนเนื้อหาวิชาการ อย่างมากให้แก่เด็กตั้งแต่เล็กนั้น ควรจะได้รับการทบทวนจากคุณพ่อคุณแม่ว่า เหมาะสมกับลูกของเราหรือไม่
อยากให้คุณพ่อคุณแม่ ลองมองถึงเรื่อง emotional intelligence ซึ่งเป็นวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ของเด็ก ซึ่งต้องมีการพัฒนา และเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องของระดับสติปัญญา
การช่วยให้ลูกได้มี emotional intelligence ที่ดีนั้น เริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ จากการที่คุณแม่คอยดูแลเอาใจใส่ลูก ให้ความรักความอบอุ่น และคอยตอบสนองความต้องการของลูกอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่การยิ้มและสบตาลูกในขณะป้อนนม หรือการส่งเสียงพูดคุยกับลูกเมื่อเด็กเริ่มหัดเล่นเสียง มีผลในการกระตุ้นเซลล์ประสาทต่างๆ ในสมองให้มีการเชื่อมต่อ และทำงานประสานกันได้อย่างมาก
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมอง และการเรียนรู้ต่างๆนั้นพบว่า การที่เด็กได้รับการเอาใจใส่ และตอบสนองด้วยความรักและเข้าใจ ในขณะที่ยังมีอายุน้อยนั้น มีบทบาทที่สำคัญในการวางพื้นฐานให้แก่เด็ก เพื่อการเรียนรู้ในอนาคต เด็กจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้มากมาย ตราบเท่าที่ความรู้สึกกระตือรือร้น และการใฝ่รู้ในตัวของเด็กยังคงมีอยู่ การพยายามสอนเด็กในแง่ของวิชาการยากๆ จะทำให้เด็กรู้สึกท้อ เบื่อหน่าย และหมดความสนใจไปในที่สุด
การที่เด็กได้มีโอกาสเลือก และตัดสินใจเอง ในการที่จะทำอะไรเกี่ยวกับตัวเขาเองบ้างนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง และเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง (self esteem) ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง (self-confidence) ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ จะเกิดขึ้นจากภายในตัวของเด็กเอง
เด็กควรจะได้รับการสนับสนุน ให้ได้ทำการตัดสินใจเลือกที่จะทำอะไรเองบ้าง เพื่อจะได้รับรู้ ถึงความรู้สึกในการที่จะต้องต่อสู้ และพยายามทำในสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจเลือกนั้นให้สำเร็จ ถึงจุดที่เขาต้องการ
เด็กจะได้รู้สึกถึงความวิตกกังวล (frustration) ในขณะที่เขากำลังมุ่งมั่นทำในสิ่งที่เขาเลือก และความรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองสามารถทำสิ่งนั้นๆ ได้สำเร็จ (sense of achievement) และในบางครั้งเด็กก็จะได้รู้สึกถึงความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง เพื่อจะได้เริ่มต้นใหม่ ให้ดีกว่าเดิมแทนที่จะยอมแพ้ท้อถอยไป โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยเป็นกำลังใจให้แก่เขา ไม่ว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
ได้มีการศึกษาพบว่าในเด็กวัยตั้งแต่ 6 ขวบ ที่เลือกเข้าในโปรแกรมฝึกทักษะ (skill-based program)ด้วยตนเอง เพราะตนเองสนใจ จะสามารถทำสิ่งต่างๆได้ดีกว่าเด็กที่เข้ามาในโปรแกรมเพราะมีผู้ใหญ่เลือกให้
ลูกนัทจะสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ถึงความรู้สึกต่างๆ ที่กล่าวมานี้ถ้าลูกนัทต้องวิ่งรอกเข้าเรียน ในโปรแกรมต่างๆ ที่คุณแม่ของลูกนัทได้จัดให้ อย่างเต็มเหยียดจนไม่มีเวลาว่างเป็นของตนเอง และไม่ได้มีเวลา “เล่นกับเพื่อน” บ้างเลย ลูกนัทจะมีความกระตือรือล้น ที่จะทำสิ่งต่างๆนี้ไหม หรือว่าในเวลาอีกไม่นานลูกนัทก็จะเกิดเบื่อ และไม่ยินดียินร้ายกับกิจกรรมต่างๆ ทำไปเพียงเพื่อเอาใจคุณแม่เท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น อนาคตการเรียนของลูกนัทจะเป็นอย่างไร
เด็กอย่างลูกนัทเป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการจัดการเรียนการสอนที่มากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ถึงความรู้สึกของเด็กที่เกิดขึ้นว่า “ทำไมหนูไม่ได้มีโอกาสไปเล่นกับเพื่อนๆ เลย หนูต้องทำแต่สิ่งที่ทุกคนอยากให้หนูทำ” ซึ่งลูกนัทอาจจะยอมแพ้ที่จะพยายามเลือกทำอะไรเอง “หนูเบื่อ แต่หนูจะทำอะไรได้ล่ะ” ซึ่งพบว่าจะมีโอกาสเกิดการ “ดื้อเงียบ (passive-aggressive) “ และในที่สุด เด็กเองก็อาจหันมาโทษคุณพ่อคุณแม่ว่า เป็นผู้ที่ทำให้เธอไม่ประสบความสำเร็จ และทำให้เป็นเช่นนี้
ในทางตรงกันข้าม ก็จะมีเด็กอีกมากมายหลายคน ที่ถูกทิ้งให้ทำอะไรตามลำพังไปคนเดียว ซึ่งเด็กเองก็จะหันไปหาสิ่งใกล้ตัวที่ง่ายที่สุด คือดูโทรทัศน์ หรือเล่นวิดีโอเกม มีเด็กหลายคนที่ใช้เวลาดูแต่ทีวีหรือเล่นวิดีโอเกม มากกว่าเวลาที่ใช้ในห้องเรียน ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่า เด็กเองนั้นเป็นคนขี้เกียจ และเฉื่อยชา ทั้งนี้เพราะมีการใช้ทีวีเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเด็กไปแล้ว และในบางครั้ง เด็กก็จะเอาอย่างที่เห็นในทีวี หรือนำความรุนแรงอย่างที่เล่นในวิดีโอเกม มาใช้กับคนรอบข้าง เพราะไม่มีใครคอยแนะนำเขาว่า สิ่งใดถูกสิ่งใดควร
จึงอยากจะขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ยึดทางสายกลาง โดยการตั้งกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกันตั้งแต่แรก เช่นเวลาที่จะใช้ดูทีวี ไม่ควรจะเกิน 30 นาที - 1 ช.ม.ต่อ วัน ในวันธรรมดา และไม่เกิน 1- 2 ช.ม.ต่อ วัน ในวันหยุด โดยคุณพ่อคุณแม่ควรจะช่วยดูแล ให้เด็กมีส่วนในการเลือกชมรายการที่มีประโยชน์ และให้ความบันเทิง รวมทั้งไม่เป็นพิษภัยแก่เด็ก
ควรจะใช้เวลาดูทีวีด้วยกันเพื่อที่จะได้พูดคุยกับลูก ถึงสิ่งที่ได้ดูในทีวี และสอดแทรกแง่คิด ความเห็นและค่านิยมของครอบครัว ให้ลูกได้รับรู้ร่วมไปด้วย เพื่อให้เด็กได้มีการรับรู้ และเข้าใจในเรื่องต่างๆ ในทางที่ถูกที่ควร และควรให้โอกาสเด็ก ในการร่วมกันเลือกกิจกรรม หรือการเรียนพิเศษโดยใช้เวลาที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไป จนเด็กไม่ได้มีโอกาส “เล่นกับเพื่อน” อย่างที่วัยของเขาควรจะทำ

รักลูกให้ถูกวิธี




มีชายผู้หนึ่งแกมีลูกชายคนเดียว แล้วก็เป็นพ่อหม้าย เช้าไปทำนาแกก็แบกลูกไปด้วย ใส่บ่าไปนาวันหนึ่ง แกสวนทางกับเพื่อนก็ยืนคุยกันเสร็จต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไปในนาของตน ชายพ่อหม้ายคนนี้ก็เอาลูกลงจากบ่า ตอนเอาลูกลงปรากฏว่าลูกเคี้ยวแตงกว่ากรุบ ๆ อยู่พ่อก็ถามว่า นี่ไอ้หนู เอาแตงกวามาจากไหน นี่พ่อไม่รู้ตอนที่วสนทางกับเพื่อนของพ่อกลางทางผมอยู่บนบ่าของพ่อแกแบกกระบุงลูกนึ่ง มีแตงกวาอยู่เต็ม ผมก็เลยล้วงแตงกวากิน นอกจากนี้ก็ยังอยู่ในกระเป๋ผมอีกทั่งกระเป๋าเสื้อกระเป๋ากางเกงเต็มไปหมด
เป็นไงครับ..แทนที่พ่อจะเริ่มสลดใจ กลับภาคภูมใจว่าลูกฉลาดแล้วชมลูกว่า แหม...ลูกพ่อนี่หัวแหลมวิเศษ ฉลาดเหลือเกินไอ้ลูกคนนี้ เด็กพอได้ยินเช่นนั้นก็นึกว่าดี การขโมยแตงกวาเขากินนี่ดีเด็กก็เลยผูกใจว่าไอ้นี่เป็นของดีกูจุต้องหาขโมยต่อไป มันคิดทีเดียวเพราะเด็กไม่มีเหตุผลอะไรมันทำไม่ดีพ่อต่องตีต้องดุนี่พ่อไม่ดี กลับชมเสียอีก นี่แหละครับ เท่ากับพ่อไม่ได้ปลูกฝังลูกให้เป็นคนดี พ่อเริ่มปลูกฝังให้ลูกเป็นคนชั่วตั้งแต่นาทีนั้นเลย
เจ้าเด็กคนนี้ ต่อมาเติบโตขึ้น ก็ลักขโมยน้อยลักเรื่อยจนกระทั่งเป็นโจรผู้ยิ่งใหญ่ทั้งลักทั้งปล้น ทั้งฆ่าเจ้าทรัพย์ จนกระทั่งตำรวจภูธรไม่สามารถจะปราบได้ เป็นโจรใจเหี้ยมมาก ทางบ้านเมืองถึงกับขอกำลังทหารออกปราบและสั่งปราบตายเลย จับตัวมาไม่มีทาง เพราะมันเหี้ยมมาก แล้วโจรคนนี้มีปืนติดตัว ๒ กระบอก เรียกว่า ไอ้เสือปืนคู่ทางบ้านเมืองเตรีมจับตาย ก็นึกถึงลูก กลัวเขาจะฆ่าลูก พยายามหาทางไปติดต่อกับลูกเพื่อให้ลูกได้รู้ตัว จะได้หนี พ่อก็ไปเจอกับลูกเข้าพอดี มือถือปืนจังก้า ๒ กระบอก
ถามว่าพ่อมาทำไม ?
นี่...อย่าเพื่งเอะอะไป ไม่ต้องกลัวใครว่ายังไง
พ่อมาทำไม ?
พ่อก็มา.. มาหาแกน่ะซี ขณะนี้ทางบ้านเมืองเขากำลังยกกองทหารมา เพื่อจะฆ่าลูก เท่านั้นแหละ
ลูกชายก็เรียก นี่.. เข้ามานี่พ่อ
พอพ่อเข้ามาก็สั่งว่า พ่อขึ้นต้นไม้เดี๋ยวนี้
พ่อก็ไม่รู้ว่าลูกบังคับให้ขึ้นต้นไม้ทำไมทีแรกจะไม่ขึ้น ไม่ขึ้นผมยิงนะ พ่อขึ้นไปเผอิญเป็นต้นมะขามกิ่งเล็ก ๆ พ่อดัดเข้า พ่อก็ดัด ตรงไหม? พ่อก็มา มาหาแกน่ะซี ขณะนี้ทางบ้านเมืองเขากำลังยกกองทหารมา เพื่อจะฆ่าลูก เท่านั้นแหละ ลูกชายก็เรียก นี่..เข้ามานี่พ่อ พอพ่อเข้ามาก็สั่งว่า พ่อขึ้นต้นไม้เดี๋ยวนี้ พ่อก็ไม่รู้ว่าลูกบังคับให้ขึ้นต้นไม้ทำไมทีแรกจะไม่ขึ้น ไม่ขึ้นผมยิงนะ พ่อขึ้นไปเผอิญเป็นต้นมะขามกิ่งเส็ก ๆ พ่อดัดเข้า พ่อก็ดัด ตรงไหม? ตรงเอ้า.. ขยับกิ่งดัดกิ่งโตขึ้นมาอีกหน่อย พ่อก็ดัดได้ ให้ดัดกิ่งใหญ่ต่อมาอีก พ่อดัดไม่ได้ ดัดยังไงก็ดัดไม่ได้ พ่อเหนื่อยเต็มทีแล้ว เหงื่อกาฬแตก ดัดให้ได้สิแตกให้มันแตกไป ไอ้เหงื่อนี่ พ่อก็ดัดไม่ไหว ยกมือไหว้ลูก บอกมึงจะฆ่าจะแกงพ่อก็ยอมละ พ่อดัดไม่ได้ เอ้า..! ดัดไม่ได้ลงมา พ่อยืนอยู่นั่นพ่อมาทำไม ? ที่มาหาผมนี่มาทำไม อ้าว..ก็เป็นห่วงลูกน่ะซี รักลูกที่เขาบอกว่าจะฆ่าลูกจึงมาบอกให้ลูหนี ปัดโธ่.. เท่านี้หรือพ่อ ? พ่อไม่ควรจะมาเลยมานี่มันเสียเวลาไม่มีประโยชน์ ยังไง ผมต้องตายแน่ แล้วที่พ่อมาบอกผมมาช่วยผม มันก็เสียแล้วมาช่วยในเวลาที่ช่วยไม่ได้ รู้ไหม ? พ่อรู้ไหมที่ผมเป็นโจรใจฉกาจอยู่อย่างนี้และกำลังจะถูกเจ้าหน้าที่เขาฆ่าตายในเร็ว ๆ นี้เป็นคนทำให้ผมเป็นโจร ใคร? พ่อใช่ไหม? ตอนนี้พ่อยืนอึ้ง เอ๊ะ! ทำให้ลูกเป็นโจรได้ยังไง ? พ่อไม่เข้าใจ ก็ไอ้วันที่ผมขดมยแตงกวาเขากินนั่นแหละ วันนั้นแหละที่พ่อกำลังสร้างผมให้เป็นโจร พ่อชมเชยใช่ไหมว่า ผมเป็นคนหัวแหลมผมฉลาด ใช่ไหม ? ใช่ ตอนนั้นผมอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้นจะไปรู้อะไรว่ามันดีชั่ว พ่อเป็นผู้ใหญ่หัวหงอกเสียเปล่า เป็นถึงพ่อคนแล้วพ่อยังไม่รู้เลยว่า ไอ้นั้นแหละคือการสร้างให้ลูกเลวทรามผมคิดว่ามันดีก็เลยประพฤติตัวเป็นคนชั่ว ไม่มีศีล เป็นคนขโมย ผมจะไม่ได้เป็นผู้ร้ายใจฉกาจเช่นนี้เลย ไอ้นี่พ่อปลุกปล้ำให้ผมเป็นคนเลวพ่อไม่ดัดผม ไม่สอนผม เมื่อผมเล็ก ๆ พ่อมาบอกผมเมื่อผมเป็น โจรเสียแล้ว มันจะสำเร็จอะไร? เขาไม่เอาผมไว้แล้ว ที่ผมให้พ่อขึ้นดัดกิ่งมะขามนั้นก็เพื่อจะให้พ่อรู้ กิ่งมะขามเล็กมันดัดให้ตรงได้แล้วผมให้พ่อดัดกิ่งใหญ่มันไม่ได้ใช่ไหม? ก็เดี๋ยวนี้ผมมันแก่แล้วเป็นกิ่งมะขามใหญ่ พ่อมาดัดแล้วมันจะได้เรื่องอะไรเสียเวลา แต่เมื่อผมเป็นโจรขึ้นเป้นคนเสียหายขึ้น ไม่มีใครเป็นผู้เสกสรรค์ปั้นแต่ง พ่อผมเป็นโจรขึ้นเป็นคนเสียหายขึ้น ไม่มีใครเป็นผู้เสาสรรค์ปั้นแต่ง พ่อผมคนนี้เองเป็นผู้สร้างให้ผมเป็นโจร พ่อสร้างเลือดเนื้อของพ่อเองให้มันเลวทรามแล้วเรื่องอะไรผมจะให้คนอื่นมาฆ่าผม พ่อสร้างผม ก็ต้องฆ่าผมโยนปืนให้พ่อกระบอกหนึ่ง พ่อ..ยิงผมเดี๋ยวนี้ ผมจะต้องตายเพราะน้ำมือของพ่อ พ่อที่ไม่ดี สร้างผมให้เป็นลูกที่ไม่ดี พ่อยิงสิ.. พ่อยิงไม่ได้หรอกลูกเอ๋ย ถึงยังไง ๆ พ่อก็ยิงลูกไม่ได้พ่อไม่ยิง ผมยิงพ่อจงยิงเดี๋ยวนี้ บอกยิง.. อย่างว่าแหละคนเราก็ต้องนึกถึงตัวยังไง ๆ ก็ต้องฆ่าลูกถ้าไม่ฆ่าลูก ลูกมันก็จุฆ่า เลยต้องยิงลูกของตัวตายด้วยประการฉะนี้
อย่าลืม..ดัดลูกเมื่อยังเล็ก ดัดเหล็กเมื่อยามร้อนจึงจะได้ผล
ที่มา : พระพิจิตรธรรมพาที

เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด




"กลุ้มใจเมื่อลูกรัก เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง ต้องสอบซ่อม เป็นประจำ ใครๆ ก็บอกว่าลูกโง่ เป็นเด็กไอคิวต่ำ แล้วจะทำอย่างไร ให้ลูกรักฉลาด มีไอคิวที่สูงขึ้น"

ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า คนยิ่งมีไอคิวสูงเท่าไร จะยิ่งประสบความสำเร็จ มากขึ้นเท่านั้น เพราะคนเหล่านี้ จะสามารถเข้าเรียนในคณะดีๆ ในมหาวิทยาลัยดังๆ และมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีต่อไป ในอนาคต ทั้งที่ความจริง ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

เด็กบางคนมีไอคิวสูง แต่เรียนได้เกรดศูนย์ทุกวิชา ชีวิตมีความทุกข์ เป็นตัวประหลาดของเพื่อนฝูง ในขณะที่เด็กไอคิวต่ำ เรียนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กลับเป็นเด็กที่มีความสุข มีกลุ่มเพื่อนมีสังคม และประสบความสำเร็จได้ดีกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้

ล่าสุด ดร.พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์ หัวหน้าสาขา การศึกษาสำหรับเด็กบกพร่อง ทางสติปัญญา และเรียนรู้ ภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และให้ความรู้ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน พร้อมแนะนำ เทคนิคการเลี้ยงลูก อย่างไรให้ฉลาด ในงานสัมมนา 'ดูแลจิตใจ..คนในครอบครัว' ซึ่งร่วมกันจัด โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ 'ไทยประกันชีวิต' ที่ผ่านมาว่า ความฉลาดของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับไอคิว หรือสติปัญญาเพียงอย่างเดียว
กล่าวคือ ความฉลาดของมนุษย์มีด้วยกันถึง 7 ด้าน
1. ด้านเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ความคิด
2. ด้านภาษา
3. ด้านดนตรี
4. ด้านความสามารถทางกีฬา
5. ด้านทัศนศิลป์
6. ด้านมิติสัมพันธ์ การเข้าใจการเคลื่อนไหวของวัตถุ เช่น พวกสถาปนิก
7. ด้านมนุษย์สัมพันธ์ เช่น นักนิเทศศาสตร์ นักปรัชญา นักจิตวิทยา เป็นต้น

ทั้งนี้แต่ละคน ตั้งแต่แรกเกิด สมองทั้ง 2 ซีก จะทำงานอย่างสมดุล โดยซีกซ้าย จะเป็นส่วนวิเคราะห์ ท่องจำ ส่วนซีกขวา จะเป็นเรื่องของจินตนาการ และการตอบสนอง

ความฉลาดของมนุษย์ จะเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิ โดยมีโครโมโซม คู่ที่ 14 และ 21 ควบคุมเรื่องสติปัญญา ความสามารถ พ่อแม่สามารถกำหนด ค่าความเฉลียวฉลาดของลูกได้ ตั้งแต่ลูกยังเป็นตัวอ่อน อยู่ในครรภ์ ด้วยการรับประทานอาหารดีมีประโยชน์

ที่สำคัญ คุณแม่ต้องมีสุขภาพจิตดี ไม่เครียด เพราะความเครียดจะทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ ส่งผลให้พัฒนาการทางสมองช้าลง และเมื่อคลอดออกมาแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง คือความกระทบกระเทือนทางสมอง ระวังอย่าให้ศีรษะถูกกระแทก ไม่ควรให้เด็กนอนคว่ำ แต่ควรนอนหงายและระวังอย่าให้เด็กชัก เพราะในสมองจะมีเซลล์ 100 ล้านเซลล์ แต่เด็กทุกคนไม่ได้มีเพียง 100 ล้านเซลล์ ถ้าเกิดอาการชัก เซลล์สมองจะตายมาก ซึ่งเซลล์ตัวนี้หากตายแล้วไม่สามารถสร้างใหม่ได้

ฉะนั้นหากเด็กเคยชัก แล้วหมอให้ยากันชักมารับประทาน ไม่ควรเลิกรับประทานเอง เพราะเมื่อใกล้วัยรุ่น อาการชักจะกลับมาอีก ทั้งนี้ อาการชักจะมี 2 แบบคือ ชักแบบเห็นท่าทางชัดเจน กับการชักแบบตาลอย มือยุกยิก ตัวร้อน พ่อแม่จึงต้องสังเกตให้ดี และควรระมัดระวัง อย่าให้เด็กเป็นไข้สูง

นอกจากนี้ในเด็กเล็ก ไม่ควรสวมถุงมือ ถุงเท้าให้ เพราะเด็กต้องการเคลื่อนไหว ทางกล้ามเนื้อ เมื่อเด็กเริ่มหัดคลาน ก็ไม่ควรหาของมากั้นขวาง หรือบังคับให้อยู่นิ่ง เด็กในช่วงขวบปีแรก จะเป็นช่วงที่สามารถพัฒนาทางสมอง ได้มากที่สุด พ่อแม่จะสามารถช่วยให้ลูก มีพัฒนาการทางสมองที่ดีได้ ด้วยการจัดให้เขาได้ผ่อนคลาย โดยให้ฟังเพลงคลาสสิก ของโมสาร์ทบ้าง เบโธเฟนบ้าง เพราะดนตรี จัดว่าเป็นภาษาสากล เป็นเสียงธรรมชาติ ที่ทุกคนเข้าใจ

นอกจากนี้ คือการหัดให้ลูก ช่วยเหลือตัวเอง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ เช่น การใส่เสื้อผ้า ด้วยตัวเอง รับประทานอาหารเอง ตลอดจนฝึกการบริหารสมอง (Brain Gym) หัดให้เป็นเด็กที่รู้จักกาลเทศะ รู้จักยิ้มและหัวเราะ มองโลกในแง่ดี สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เขาเป็นเด็กที่มีเสน่ห์ สามารถอยู่ในสังคมได้ อย่างมีความสุข

จากการวิจัย ยังพบอีกว่า ไอคิว หรือสติปัญญาเพียง 20% เท่านั้น ที่ทำให้เด็ก ประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนอีก 80% คือ อีคิว ซึ่งเป็นคุณสมบัติ ด้านจริยธรรมสังคม และการมองโลกในแง่ดี ที่ทำให้เด็กมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต

สำหรับปัจจัยที่กีดขวาง การพัฒนาการทางสมองของเด็ก ก็คือ ความเครียด อารมณ์ของพ่อแม่ ที่ถ่ายทอดสู่ลูก สำคัญที่สุด เพราะอาจเป็นการสร้างรอยแผล ที่กัดกร่อนความรู้สึก ในใจลูก เช่น การถูกลดความสำคัญลง ด้วยสาเหตุ ของการมีลูกคนใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากวันนี้ ลูกรักของคุณ เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง ท่องจำอะไรไม่ได้ สอบได้เกรด 1 เกรด 2 บางวิชาก็ 0 อย่าคิดว่าลูกโง่ เพราะการท่องจำ การวัดไอคิว ด้วยแบบทดสอบ ไม่สามารถ วัดความเฉลียวฉลาดของเด็ก ได้เสมอไป

เนื่องจากแบบทดสอบ หรือการท่องจำได้นั้น เป็นเพียงการจัดระดับ ทักษะความคิด และการใช้เหตุผลเท่านั้น ค่าเบี่ยงเบนจึงมีสูง ไม่อาจวัด ค่าความสามารถ ทั้ง 7 ด้านได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากให้ลูกฉลาด จึงควรอบรมเลี้ยงดูลูก ด้วยความรัก ความเข้าใจ และอดทน รวมทั้งต้องมองการณ์ไกล พึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกจะเก่ง จะฉลาด หรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับสองมือ และหัวใจ ของผู้ที่ฟูมฟักเลี้ยงดู ว่าจะรังสรรค์ปั้นแต่ง ให้เป็นไปในทิศทางใด

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

เลี้ยงลูกเชิงบวก



ผู้ใหญ่มักใช้วิธีรับมือกับเด็กด้วยความรุนแรง ด้วยหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาได้ แต่หารู้ไม่ว่านี่เป็นวิธีที่ไม่เคยใช้ได้ผล ที่สำคัญคือถือว่าผู้ใหญ่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงไปแล้ว
ทว่าจากนี้ไปหนังสือ การสร้างวินัยเชิงบวก:ความเข้าใจที่ถูกต้องและวิธีนำไปใช้ (Positive Discipline:What it is and how to do it) โดย ดร.โจน อี ดูแรนท์ จะเป็นคู่มือเลี้ยงลูกเพื่อเป็นแนวที่ถูกต้องให้กับพ่อแม่

สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงกับเด็กว่า มีนัยยะสำคัญทับซ้อนกันอยู่ 2 ประการ คือ ความรู้สึกต้องการสั่งสอนให้เด็กปรับพฤติกรรม และรองรับอารมณ์ของผู้ปกครอง ซึ่งเด็กไม่เคยเข้าใจว่าทำไมจึงถูกทำร้าย และยังมีผลต่อพฤติกรรมเด็กให้มีความรู้สึกหวาดกลัว กังวล และโกรธแค้นด้วยความรู้สึกที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ ทั้งยังทำให้เด็กต่อต้านไม่อยากอยู่ใกล้พ่อแม่ แต่เด็กไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง เพราะลับหลังก็ยังเป็นเช่นเดิม"ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลหรือลงโทษด้วยการตีก็ไม่ส่งผลดีต่อเด็ก แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือเป็น role model ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น" สรรพสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กแบ่งเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ในวัยนี้เด็กยังไม่มีพัฒนาการด้านคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล แต่จะเน้นพัฒนาการด้านอารมณ์พ่อแม่จึงไม่ควรอบรมด้วยการใช้เหตุผล แต่ต้องใช้วิธีดึงความสนใจ ช่วงวัย 6-12 ปี เป็นช่วงที่เริ่มใช้เหตุผล และอายุ 12-18 ปี เด็กวัยนี้ต้องการโต้เถียงด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากผู้ใหญ่
ดร.สมบัติ ตาปัญญา นักวิชาการจิตวิทยาคลินิกและผู้แปลฉบับภาษาไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กพบว่า เมื่อเด็กได้รับความรุนแรงพวกเขาจะซึมซับความรุนแรงเหล่านั้น และเมื่อเติบโตก็มีมักจะแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

"เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คู่แม้จะเขียนโดยนักวิชาการต่างประเทศแต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเลี้ยงดูเด็กที่สามารถนำมาใช้ได้กับสภาพครอบครัวของประเทศไทย ซึ่งยังไงมีแนวคิดความเชื่อว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี" ดร.สมบัติ กล่าว

มร.โดมินิก ปิแอร์ ปลาโต้ ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านการป้องกันการล่วงละเมิดและการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก Save The Children Sweden กล่าวว่า มีเด็กทั่วโลกราวร้อยละ 80-90 ที่ได้รับการลงโทษทางร่างกายและจิตใจ ด้วยเป้าหมายที่ผู้ใหญ่คิดว่านั่นคือ \'การสร้างวินัยให้เด็ก\' และปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเด็กก็มิได้เกิดเฉพาะในครอบครัวยากจนหรือในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แม้แต่เด็กๆ ในประเทศตะวันตกก็เผชิญกับความรุนแรงจากครบครัวเช่นกัน องค์กรฯ จึงได้ร่วมรณรงค์ให้วันที่ 30 เม.ย.ของทุกปี ถือเป็น วันแห่งการยุติการทำร้ายเด็กนานาชาติ International Spank Out Day

สำหรับความหมายที่แท้จริงของ การสร้างวินัยเชิงบวก ก็คือการสอนที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จโดยให้ข้อมูลความรู้ และความรักแก่เด็ก รวมถึงการสนับสนุนการเติบโตของพวกเขาโดยไม่ใช้การทำโทษทางร่างกายหรือจิตใจ เพราะการลงโทษล้วนทำให้เด็กมีความก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรลืมก็คือ มีเครื่องมืออันทรงพลังอยู่ 2 ประการ
นั่นคือ การปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างอบอุ่นรักใคร่ และยอมรับ เพื่อเด็กจะได้รู้สึกปลอดภัย ไม่หวาดกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือตะหวาดใส่หากเขาทำอะไรผิดพลาด เครื่องมืออีกประการหนึ่งก็คือการสร้างแนวทางสำหรับเด็กที่ไม่ได้หมายถึงการลงโทษหรือการขีดกรอบให้เดิน ทว่าแนวทางในที่นี้หมายถึงการให้ข้อมูลและการสื่อสาร
หากการลงโทษคือการหวังผลระยะสั้นเพื่อให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างวินัยเชิงบวก จึงเปรียบเสมือนวิธีรับมือที่พ่อแม่คาดหวังได้ในระยะยาว.


ที่มา : Thaipost

ของเล่นเด็กของเด็กทารก



ประโยชน์ในการเล่นของเด็กทารก


1.ใช้สายตามองเพื่อประสานจับสิ่งของ
2.ฝึกควบคุมการใช้กล้ามเนื้อให้แข็งแรง
3.เข้าใจผลที่เกิดขึ้น เช่น เคาะของแล้วมีเสียงดัง
4.ฝึกการแก้ปัญหา เช่น เอาของเล่นออกจากกล่อง
5.มีการตอบสนองกับผู้เล่นเช่นเล่นจ๊ะเอ๋


การเล่นกับทารก


1.วัย 1-4 เดือน ชอบมองของสีสันสดใส เด็กจะสนใจใบหน้าคนเป็นพิเศษ พ่อแม่หาโมบายสีสันสดใสแขวนไว้ข้างเตียง บางอย่างมีเสียงด้วยเด็กจะชอบเล่นได้นานขึ้น เลื่อนของเล่นเข้าออกฝึกให้ลูกใช้กล้ามเนื้อตาและรู้ระยะทาง
2.เสียงดนตรีออเคสต้าฝึกให้ลูกแยกแยะเสียงที่ได้ยินและพัฒนาการของสมอง เวลาฟังเพลงพ่อแม่จับลูกโยกตัวยกแขน ยดขาด้วย
3.วัย4 เดือน ลูกจ้องมองได้ดีหาหนังสือทำด้วยฟองน้ำชี้ให้ลูกมองตาม เล่าให้ฟังด้วยเสียงสูงต่ำ
4.วัย 8 เดือนขึ้นไป เล่นจ๊ะเอ๋ เคาะของให้เกิดเสียง
5.อายุใกล้ 1 ปีลูกเริ่มเลียนแบบสอนลูกบ๊ายบาย เต้นตามเสียงเพลง

อันตรายจากของเล่น

ของเล่นมีประโยชน์ก็จริงแต่ของเล่นในท้องตลาดบางอย่างอาจไม่ได้มาตรฐาน อาจดูจากเครื่องหมาย มอก.ของเล่นที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้ห้ามให้ทารกและเด็กเล่นเด็ดขาด
1.ใช้กระแสไฟฟ้าในการทำงาน อาจเกิดกระแสไฟรั่วได้
2.ปล่อยชิ้นส่วนให้พุ่งออกไปได้
3.มีเสียงดังมากอาจมีผลต่อประสาทหูเด็ก
4.มีสายหรือเชือกยาวเกินกว่า 20เซนติเมตร อาจพันรอบคอเด็กรัดแน่นจนหายใจไม่ออก
5.มีส่วนประกอบที่แหลมคม
6.ไม่ทนทานแยกเป็นชิ้นเล็กๆได้
7.ทำจากสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
8.มีขนาดเล็กมากอาจอุดกั้นทางเดินหายใจได้ การดูขนาดสิ่งของควรให้มีขนาดใหญ่กว่า 4.4 ซม. ทดสอบโดยใช้แกนกระดาษชำระถ้าของเล่นผ่านแกนกระดาษชำระได้แสดงว่ามีขนาดเล็กเกิน ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายต่ำกว่า 3 ปี
9.ลูกโป่งไม่ควรนำมาให้เด็กเล็กเล่นอาจกลืนและหลุดเข้าไปอุดกลั้นทางเดินหายใจได้
ที่มา : เกร็ดความรู้โรงพยาบาลเด็ก

การดูแลเมื่อ เด็ก เจ็บป่วย



ข้อแนะนำการดูแลลูกเมื่อเจ็บป่วย


1.เมื่อลูกมี ไข้ เมื่อเกิดการอักเสบติดเชื้อที่ใดก็ตามในร่างกาย ร่างกายของคนเราจะเกิดมีไข้ขึ้นมาถ้าภาวะการอักเสบหรือติดเชื้อยังอยู่ในร่างกายไข้ก็ยังคงมีอยู่อาจเป็นไข้ขึ้นๆลงๆหรือไข้สูงลอยก็แล้วแต่ลักษณะของโรคนั้นเพราะพ่อแม่มักจะถามว่าทำไมกินยาลดไข้แล้วไข้ยังขึ้นอีกก็ขอตอบว่าก็สาเหตุของไข้ยังอยู่ในร่างกาย ดังนั้นการกินยาลดไข้คือการรักษาปลายเหตุแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าไข้สูงมากอาจทำให้ลูกชักได้

การดูแลลูกเมื่อมีไข้ ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอลจะปลอดภัยที่สุด(ห้ามใช้ยา แอสไพรินเพราะถ้าเด็กเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคอีสุกอีใส อาจทำให้เกิดกลุ่มโรคไรด์ เกิดตับวาย และมีผลต่อสมองทำให้เสียชีวิตได้ ) ระหว่างรอยาลดไข้ออกฤทธิ์ให้ใช้น้ำก๊อกเช็ดตัวให้ลูกด้วย ยาออกฤทธิ์นาน 4-6 ชม. ช่วง1-2วันแรกไข้มักจะสูงควรตั้งนาฬิกาปลุกไว้ด้วยเพราะลูกอาจไข้ขึ้นตอนผู้ดูแลนอนหลับและควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของไข้ ถ้าเป็นไข้จากการติดเชื้อหลังจากได้รับยาฆ่าเชื้อใช้เวลา3-4 วันกว่าไข้จะลงดี แต่ถ้ารักษาเกิน3-4วันไข้ยังสูงอยู่ตลอดควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจเลือดและปัสสาวะ

2.เมื่อลูก อาเจียน อาการอาเจียนอาจเกิดร่วมกับโรคอุจจาระร่วง หรือเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่คอและหลอดลมเด็กจะไอพร้อมกับอาเจียน นอกจากนั้นยังพบร่วมกับโรคไส้ติ่งอักเสบร่วมด้วย เมื่อลูกอาเจียนควรให้น้ำเกลือแร่ทดแทนตามปริมาณที่อาเจียนกินทีละน้อย ใช้ยาแก้อาเจียนชื่อ MOTILIUM SYRUP กินได้ทุก 8ชั่วโมง และควรพามาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

3.เมื่อลูก ท้องเสีย ที่บ้านควรมีน้ำเกลือแร่ติดบ้านไว้เสมอ เด็กท้องเสียอันตรายที่สุดคีอสูญเสียน้ำมากและทดแทนให้ไม่ทัน ดังนั้นควรให้ลูกกินน้ำเกลือแร่โดยใช้ช้อนค่อยๆป้อน ใช้น้ำข้าวใส่เกลือเล็กน้อยทดแทนน้ำเกลือแร่ได้ ถ้าลูกยังท้อง
เสียมาก อ่อนเพลีย กินได้น้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อให้สารน้ำทดแทน

4.เมื่อลูก ปวดท้อง สาเหตุอาจเนื่องจาก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย ไส้ติ่งอักเสบ(มักมีไข้ อาเจียนร่วมด้วย)
การดูแลเบื้องต้นอาจให้กินยาเคลือบกระเพาะถ้าไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

5.เมื่อลูก ชัก ควรระวังภาวะอันตรายถ้าลูกล้มศรีษะกระแทกพื้น ห้ามเอานิ้วใส่ปากเพราะเด็กจะกัดเป็นอันตรายได้ ให้จับหน้าตะแคงเพื่อไม่ให้สำลักสิ่งของที่อยู่ในปาก ถ้ามีไข้ให้เช็ดตัวให้ลูก ถ้าลูกเริ่มรู้ตัวอาจให้ยาลดไข้ และยากันชักถ้าเคยเป็นมาก่อน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
ที่มา : เกร็ดความรู้จากโรงพยาบาลเด็ก