การแบ่งเวลาเล่นของลูก



ลูกนัท อายุ 7 ขวบ กำลังขอคุณแม่ไปเล่นที่บ้านของน้องเจน ที่เป็นเพื่อนที่โรงเรียน และอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่คุณแม่ของลูกนัทตอบว่า ไม่ได้หรอกลูก เดี๋ยวเช้านี้ ลูกต้องไปเรียนเปียโน และตอนบ่ายก็จะต้องไปเรียนบัลเล่ต์ ส่วนเย็นนี้จะมีคุณครูพิเศษมาสอนเลข และภาษาอังกฤษที่บ้าน คุณแม่ลูกนัทลืมดูสีหน้าของลูก ที่กำลังทำหน้าเบื่อ และดูหมดหวังที่จะได้มีโอกาสไปเล่นกับเพื่อนๆ อย่างที่เด็กวัย 7 ขวบทั่วไปเขาทำกัน


จะเร่งเด็กกันไปถึงไหน
ตารางกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ จัดให้ลูกนัททำในแต่ละวันนั้น ดูดีมากในสายตาของพ่อแม่และถ้าลูกนัททำได้ตามนั้น ก็จะเป็นที่ชื่นชม แต่ลูกนัทเองอยากที่ทำอย่างนั้นจริงๆหรือไม่ การที่ลูกนัทได้ออกไปเล่นกับน้องเจน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนนั้น เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป จนอาจกลายเป็นเพื่อนสนิท ที่จะคอยช่วยเหลือกันต่อไปในอนาคต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่เด็กได้เล่นด้วยกัน ทำให้เด็กได้พักผ่อน พัฒนาทักษะของการอยู่ร่วมกัน และได้มีโอกาสสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก
พ่อแม่หลายคนอาจจะลืมนึกถึงประเด็นที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการที่ลูกนัท จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่พ่อแม่จัดให้ในแต่ละวัน ก็คือ การที่ลูกนัท จะได้มีโอกาสเลือกตัดสินใจ ในการทำกิจกรรม หรือการเล่น ด้วยตนเอง เมื่อเธอเองมีเวลาว่างของตนเองบ้าง เด็กจะได้ไม่รู้สึกเครียดหรือถูกกดดันอยู่ตลอดเวลา จากผู้ใหญ่จนตัวเองรู้สึกว่า ไม่สามารถทำอะไรได้ อย่างเป็นตัวของตัวเอง ทำให้รู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย และขาดความกระตือรือร้น (lack of motivation)
ผู้ใหญ่เราควรจะต้องถามตนเองว่า การที่เราจัดการให้ลูกได้เรียน และทำกิจกรรมต่างๆ เต็มไปหมดนั้นเพื่อลูก หรือเพื่อตัวเราเอง คุณพ่อคุณแม่หลายคนจำเป็นต้องเอาเด็กไปเข้ากิจกรรมต่างๆ เพราะตัวเองไม่มีเวลาให้ลูก เนื่องจากต้องทำงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งให้เด็กอยู่คนเดียวที่บ้าน หรือเพราะกลัวว่า เด็กจะช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ถ้าไม่ได้เรียนพิเศษเพิ่มเติมอีก และคุณพ่อคุณแม่หลายคน ก็จะตื่นเต้นดีใจ ที่ลูกทำอะไรได้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ เราจึงได้เห็นการเรียนพิเศษกันอย่างแน่นเอี๊ยด เพื่อที่จะให้เด็กนั้นสอบได้ดีกว่าคนอื่นๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การที่เด็กหมดสิทธิ์ที่จะเป็นเด็ก อย่างที่วัยของเขาควรจะเป็น เด็กเองไม่ได้มีโอกาสลองทำ หรือลองตัดสินใจทำอะไรเอง เพราะมีผู้ใหญ่ทำการตัดสินใจ และจัดการสิ่งต่างๆ ให้จนหมด ซึ่งในชีวิตจริงเด็กจำเป็นที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ในการที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง และประสบการณ์เหล่านี้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จได้ดีในอนาคต


จริงๆแล้วเด็กมีวิธีการในการเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างไร
ความกดดันทางสังคม ที่มุ่งเน้นเรื่องการสอนเนื้อหาวิชาการ อย่างมากให้แก่เด็กตั้งแต่เล็กนั้น ควรจะได้รับการทบทวนจากคุณพ่อคุณแม่ว่า เหมาะสมกับลูกของเราหรือไม่
อยากให้คุณพ่อคุณแม่ ลองมองถึงเรื่อง emotional intelligence ซึ่งเป็นวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ของเด็ก ซึ่งต้องมีการพัฒนา และเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องของระดับสติปัญญา
การช่วยให้ลูกได้มี emotional intelligence ที่ดีนั้น เริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ จากการที่คุณแม่คอยดูแลเอาใจใส่ลูก ให้ความรักความอบอุ่น และคอยตอบสนองความต้องการของลูกอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่การยิ้มและสบตาลูกในขณะป้อนนม หรือการส่งเสียงพูดคุยกับลูกเมื่อเด็กเริ่มหัดเล่นเสียง มีผลในการกระตุ้นเซลล์ประสาทต่างๆ ในสมองให้มีการเชื่อมต่อ และทำงานประสานกันได้อย่างมาก
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมอง และการเรียนรู้ต่างๆนั้นพบว่า การที่เด็กได้รับการเอาใจใส่ และตอบสนองด้วยความรักและเข้าใจ ในขณะที่ยังมีอายุน้อยนั้น มีบทบาทที่สำคัญในการวางพื้นฐานให้แก่เด็ก เพื่อการเรียนรู้ในอนาคต เด็กจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้มากมาย ตราบเท่าที่ความรู้สึกกระตือรือร้น และการใฝ่รู้ในตัวของเด็กยังคงมีอยู่ การพยายามสอนเด็กในแง่ของวิชาการยากๆ จะทำให้เด็กรู้สึกท้อ เบื่อหน่าย และหมดความสนใจไปในที่สุด
การที่เด็กได้มีโอกาสเลือก และตัดสินใจเอง ในการที่จะทำอะไรเกี่ยวกับตัวเขาเองบ้างนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง และเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง (self esteem) ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง (self-confidence) ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ จะเกิดขึ้นจากภายในตัวของเด็กเอง
เด็กควรจะได้รับการสนับสนุน ให้ได้ทำการตัดสินใจเลือกที่จะทำอะไรเองบ้าง เพื่อจะได้รับรู้ ถึงความรู้สึกในการที่จะต้องต่อสู้ และพยายามทำในสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจเลือกนั้นให้สำเร็จ ถึงจุดที่เขาต้องการ
เด็กจะได้รู้สึกถึงความวิตกกังวล (frustration) ในขณะที่เขากำลังมุ่งมั่นทำในสิ่งที่เขาเลือก และความรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองสามารถทำสิ่งนั้นๆ ได้สำเร็จ (sense of achievement) และในบางครั้งเด็กก็จะได้รู้สึกถึงความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง เพื่อจะได้เริ่มต้นใหม่ ให้ดีกว่าเดิมแทนที่จะยอมแพ้ท้อถอยไป โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยเป็นกำลังใจให้แก่เขา ไม่ว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
ได้มีการศึกษาพบว่าในเด็กวัยตั้งแต่ 6 ขวบ ที่เลือกเข้าในโปรแกรมฝึกทักษะ (skill-based program)ด้วยตนเอง เพราะตนเองสนใจ จะสามารถทำสิ่งต่างๆได้ดีกว่าเด็กที่เข้ามาในโปรแกรมเพราะมีผู้ใหญ่เลือกให้
ลูกนัทจะสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ถึงความรู้สึกต่างๆ ที่กล่าวมานี้ถ้าลูกนัทต้องวิ่งรอกเข้าเรียน ในโปรแกรมต่างๆ ที่คุณแม่ของลูกนัทได้จัดให้ อย่างเต็มเหยียดจนไม่มีเวลาว่างเป็นของตนเอง และไม่ได้มีเวลา “เล่นกับเพื่อน” บ้างเลย ลูกนัทจะมีความกระตือรือล้น ที่จะทำสิ่งต่างๆนี้ไหม หรือว่าในเวลาอีกไม่นานลูกนัทก็จะเกิดเบื่อ และไม่ยินดียินร้ายกับกิจกรรมต่างๆ ทำไปเพียงเพื่อเอาใจคุณแม่เท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น อนาคตการเรียนของลูกนัทจะเป็นอย่างไร
เด็กอย่างลูกนัทเป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการจัดการเรียนการสอนที่มากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ถึงความรู้สึกของเด็กที่เกิดขึ้นว่า “ทำไมหนูไม่ได้มีโอกาสไปเล่นกับเพื่อนๆ เลย หนูต้องทำแต่สิ่งที่ทุกคนอยากให้หนูทำ” ซึ่งลูกนัทอาจจะยอมแพ้ที่จะพยายามเลือกทำอะไรเอง “หนูเบื่อ แต่หนูจะทำอะไรได้ล่ะ” ซึ่งพบว่าจะมีโอกาสเกิดการ “ดื้อเงียบ (passive-aggressive) “ และในที่สุด เด็กเองก็อาจหันมาโทษคุณพ่อคุณแม่ว่า เป็นผู้ที่ทำให้เธอไม่ประสบความสำเร็จ และทำให้เป็นเช่นนี้
ในทางตรงกันข้าม ก็จะมีเด็กอีกมากมายหลายคน ที่ถูกทิ้งให้ทำอะไรตามลำพังไปคนเดียว ซึ่งเด็กเองก็จะหันไปหาสิ่งใกล้ตัวที่ง่ายที่สุด คือดูโทรทัศน์ หรือเล่นวิดีโอเกม มีเด็กหลายคนที่ใช้เวลาดูแต่ทีวีหรือเล่นวิดีโอเกม มากกว่าเวลาที่ใช้ในห้องเรียน ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่า เด็กเองนั้นเป็นคนขี้เกียจ และเฉื่อยชา ทั้งนี้เพราะมีการใช้ทีวีเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเด็กไปแล้ว และในบางครั้ง เด็กก็จะเอาอย่างที่เห็นในทีวี หรือนำความรุนแรงอย่างที่เล่นในวิดีโอเกม มาใช้กับคนรอบข้าง เพราะไม่มีใครคอยแนะนำเขาว่า สิ่งใดถูกสิ่งใดควร
จึงอยากจะขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ยึดทางสายกลาง โดยการตั้งกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกันตั้งแต่แรก เช่นเวลาที่จะใช้ดูทีวี ไม่ควรจะเกิน 30 นาที - 1 ช.ม.ต่อ วัน ในวันธรรมดา และไม่เกิน 1- 2 ช.ม.ต่อ วัน ในวันหยุด โดยคุณพ่อคุณแม่ควรจะช่วยดูแล ให้เด็กมีส่วนในการเลือกชมรายการที่มีประโยชน์ และให้ความบันเทิง รวมทั้งไม่เป็นพิษภัยแก่เด็ก
ควรจะใช้เวลาดูทีวีด้วยกันเพื่อที่จะได้พูดคุยกับลูก ถึงสิ่งที่ได้ดูในทีวี และสอดแทรกแง่คิด ความเห็นและค่านิยมของครอบครัว ให้ลูกได้รับรู้ร่วมไปด้วย เพื่อให้เด็กได้มีการรับรู้ และเข้าใจในเรื่องต่างๆ ในทางที่ถูกที่ควร และควรให้โอกาสเด็ก ในการร่วมกันเลือกกิจกรรม หรือการเรียนพิเศษโดยใช้เวลาที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไป จนเด็กไม่ได้มีโอกาส “เล่นกับเพื่อน” อย่างที่วัยของเขาควรจะทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น