"กลุ้มใจเมื่อลูกรัก เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง ต้องสอบซ่อม เป็นประจำ ใครๆ ก็บอกว่าลูกโง่ เป็นเด็กไอคิวต่ำ แล้วจะทำอย่างไร ให้ลูกรักฉลาด มีไอคิวที่สูงขึ้น"
ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า คนยิ่งมีไอคิวสูงเท่าไร จะยิ่งประสบความสำเร็จ มากขึ้นเท่านั้น เพราะคนเหล่านี้ จะสามารถเข้าเรียนในคณะดีๆ ในมหาวิทยาลัยดังๆ และมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีต่อไป ในอนาคต ทั้งที่ความจริง ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เด็กบางคนมีไอคิวสูง แต่เรียนได้เกรดศูนย์ทุกวิชา ชีวิตมีความทุกข์ เป็นตัวประหลาดของเพื่อนฝูง ในขณะที่เด็กไอคิวต่ำ เรียนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กลับเป็นเด็กที่มีความสุข มีกลุ่มเพื่อนมีสังคม และประสบความสำเร็จได้ดีกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ล่าสุด ดร.พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์ หัวหน้าสาขา การศึกษาสำหรับเด็กบกพร่อง ทางสติปัญญา และเรียนรู้ ภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และให้ความรู้ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน พร้อมแนะนำ เทคนิคการเลี้ยงลูก อย่างไรให้ฉลาด ในงานสัมมนา 'ดูแลจิตใจ..คนในครอบครัว' ซึ่งร่วมกันจัด โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ 'ไทยประกันชีวิต' ที่ผ่านมาว่า ความฉลาดของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับไอคิว หรือสติปัญญาเพียงอย่างเดียว
กล่าวคือ ความฉลาดของมนุษย์มีด้วยกันถึง 7 ด้าน
1. ด้านเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ความคิด
2. ด้านภาษา
3. ด้านดนตรี
4. ด้านความสามารถทางกีฬา
5. ด้านทัศนศิลป์
6. ด้านมิติสัมพันธ์ การเข้าใจการเคลื่อนไหวของวัตถุ เช่น พวกสถาปนิก
7. ด้านมนุษย์สัมพันธ์ เช่น นักนิเทศศาสตร์ นักปรัชญา นักจิตวิทยา เป็นต้น
ทั้งนี้แต่ละคน ตั้งแต่แรกเกิด สมองทั้ง 2 ซีก จะทำงานอย่างสมดุล โดยซีกซ้าย จะเป็นส่วนวิเคราะห์ ท่องจำ ส่วนซีกขวา จะเป็นเรื่องของจินตนาการ และการตอบสนอง
ความฉลาดของมนุษย์ จะเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิ โดยมีโครโมโซม คู่ที่ 14 และ 21 ควบคุมเรื่องสติปัญญา ความสามารถ พ่อแม่สามารถกำหนด ค่าความเฉลียวฉลาดของลูกได้ ตั้งแต่ลูกยังเป็นตัวอ่อน อยู่ในครรภ์ ด้วยการรับประทานอาหารดีมีประโยชน์
ที่สำคัญ คุณแม่ต้องมีสุขภาพจิตดี ไม่เครียด เพราะความเครียดจะทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ ส่งผลให้พัฒนาการทางสมองช้าลง และเมื่อคลอดออกมาแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง คือความกระทบกระเทือนทางสมอง ระวังอย่าให้ศีรษะถูกกระแทก ไม่ควรให้เด็กนอนคว่ำ แต่ควรนอนหงายและระวังอย่าให้เด็กชัก เพราะในสมองจะมีเซลล์ 100 ล้านเซลล์ แต่เด็กทุกคนไม่ได้มีเพียง 100 ล้านเซลล์ ถ้าเกิดอาการชัก เซลล์สมองจะตายมาก ซึ่งเซลล์ตัวนี้หากตายแล้วไม่สามารถสร้างใหม่ได้
ฉะนั้นหากเด็กเคยชัก แล้วหมอให้ยากันชักมารับประทาน ไม่ควรเลิกรับประทานเอง เพราะเมื่อใกล้วัยรุ่น อาการชักจะกลับมาอีก ทั้งนี้ อาการชักจะมี 2 แบบคือ ชักแบบเห็นท่าทางชัดเจน กับการชักแบบตาลอย มือยุกยิก ตัวร้อน พ่อแม่จึงต้องสังเกตให้ดี และควรระมัดระวัง อย่าให้เด็กเป็นไข้สูง
นอกจากนี้ในเด็กเล็ก ไม่ควรสวมถุงมือ ถุงเท้าให้ เพราะเด็กต้องการเคลื่อนไหว ทางกล้ามเนื้อ เมื่อเด็กเริ่มหัดคลาน ก็ไม่ควรหาของมากั้นขวาง หรือบังคับให้อยู่นิ่ง เด็กในช่วงขวบปีแรก จะเป็นช่วงที่สามารถพัฒนาทางสมอง ได้มากที่สุด พ่อแม่จะสามารถช่วยให้ลูก มีพัฒนาการทางสมองที่ดีได้ ด้วยการจัดให้เขาได้ผ่อนคลาย โดยให้ฟังเพลงคลาสสิก ของโมสาร์ทบ้าง เบโธเฟนบ้าง เพราะดนตรี จัดว่าเป็นภาษาสากล เป็นเสียงธรรมชาติ ที่ทุกคนเข้าใจ
นอกจากนี้ คือการหัดให้ลูก ช่วยเหลือตัวเอง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ เช่น การใส่เสื้อผ้า ด้วยตัวเอง รับประทานอาหารเอง ตลอดจนฝึกการบริหารสมอง (Brain Gym) หัดให้เป็นเด็กที่รู้จักกาลเทศะ รู้จักยิ้มและหัวเราะ มองโลกในแง่ดี สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เขาเป็นเด็กที่มีเสน่ห์ สามารถอยู่ในสังคมได้ อย่างมีความสุข
จากการวิจัย ยังพบอีกว่า ไอคิว หรือสติปัญญาเพียง 20% เท่านั้น ที่ทำให้เด็ก ประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนอีก 80% คือ อีคิว ซึ่งเป็นคุณสมบัติ ด้านจริยธรรมสังคม และการมองโลกในแง่ดี ที่ทำให้เด็กมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต
สำหรับปัจจัยที่กีดขวาง การพัฒนาการทางสมองของเด็ก ก็คือ ความเครียด อารมณ์ของพ่อแม่ ที่ถ่ายทอดสู่ลูก สำคัญที่สุด เพราะอาจเป็นการสร้างรอยแผล ที่กัดกร่อนความรู้สึก ในใจลูก เช่น การถูกลดความสำคัญลง ด้วยสาเหตุ ของการมีลูกคนใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากวันนี้ ลูกรักของคุณ เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง ท่องจำอะไรไม่ได้ สอบได้เกรด 1 เกรด 2 บางวิชาก็ 0 อย่าคิดว่าลูกโง่ เพราะการท่องจำ การวัดไอคิว ด้วยแบบทดสอบ ไม่สามารถ วัดความเฉลียวฉลาดของเด็ก ได้เสมอไป
เนื่องจากแบบทดสอบ หรือการท่องจำได้นั้น เป็นเพียงการจัดระดับ ทักษะความคิด และการใช้เหตุผลเท่านั้น ค่าเบี่ยงเบนจึงมีสูง ไม่อาจวัด ค่าความสามารถ ทั้ง 7 ด้านได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากให้ลูกฉลาด จึงควรอบรมเลี้ยงดูลูก ด้วยความรัก ความเข้าใจ และอดทน รวมทั้งต้องมองการณ์ไกล พึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกจะเก่ง จะฉลาด หรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับสองมือ และหัวใจ ของผู้ที่ฟูมฟักเลี้ยงดู ว่าจะรังสรรค์ปั้นแต่ง ให้เป็นไปในทิศทางใด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น