การดูแลเมื่อ เด็ก เจ็บป่วย



ข้อแนะนำการดูแลลูกเมื่อเจ็บป่วย


1.เมื่อลูกมี ไข้ เมื่อเกิดการอักเสบติดเชื้อที่ใดก็ตามในร่างกาย ร่างกายของคนเราจะเกิดมีไข้ขึ้นมาถ้าภาวะการอักเสบหรือติดเชื้อยังอยู่ในร่างกายไข้ก็ยังคงมีอยู่อาจเป็นไข้ขึ้นๆลงๆหรือไข้สูงลอยก็แล้วแต่ลักษณะของโรคนั้นเพราะพ่อแม่มักจะถามว่าทำไมกินยาลดไข้แล้วไข้ยังขึ้นอีกก็ขอตอบว่าก็สาเหตุของไข้ยังอยู่ในร่างกาย ดังนั้นการกินยาลดไข้คือการรักษาปลายเหตุแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าไข้สูงมากอาจทำให้ลูกชักได้

การดูแลลูกเมื่อมีไข้ ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอลจะปลอดภัยที่สุด(ห้ามใช้ยา แอสไพรินเพราะถ้าเด็กเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคอีสุกอีใส อาจทำให้เกิดกลุ่มโรคไรด์ เกิดตับวาย และมีผลต่อสมองทำให้เสียชีวิตได้ ) ระหว่างรอยาลดไข้ออกฤทธิ์ให้ใช้น้ำก๊อกเช็ดตัวให้ลูกด้วย ยาออกฤทธิ์นาน 4-6 ชม. ช่วง1-2วันแรกไข้มักจะสูงควรตั้งนาฬิกาปลุกไว้ด้วยเพราะลูกอาจไข้ขึ้นตอนผู้ดูแลนอนหลับและควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของไข้ ถ้าเป็นไข้จากการติดเชื้อหลังจากได้รับยาฆ่าเชื้อใช้เวลา3-4 วันกว่าไข้จะลงดี แต่ถ้ารักษาเกิน3-4วันไข้ยังสูงอยู่ตลอดควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจเลือดและปัสสาวะ

2.เมื่อลูก อาเจียน อาการอาเจียนอาจเกิดร่วมกับโรคอุจจาระร่วง หรือเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่คอและหลอดลมเด็กจะไอพร้อมกับอาเจียน นอกจากนั้นยังพบร่วมกับโรคไส้ติ่งอักเสบร่วมด้วย เมื่อลูกอาเจียนควรให้น้ำเกลือแร่ทดแทนตามปริมาณที่อาเจียนกินทีละน้อย ใช้ยาแก้อาเจียนชื่อ MOTILIUM SYRUP กินได้ทุก 8ชั่วโมง และควรพามาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

3.เมื่อลูก ท้องเสีย ที่บ้านควรมีน้ำเกลือแร่ติดบ้านไว้เสมอ เด็กท้องเสียอันตรายที่สุดคีอสูญเสียน้ำมากและทดแทนให้ไม่ทัน ดังนั้นควรให้ลูกกินน้ำเกลือแร่โดยใช้ช้อนค่อยๆป้อน ใช้น้ำข้าวใส่เกลือเล็กน้อยทดแทนน้ำเกลือแร่ได้ ถ้าลูกยังท้อง
เสียมาก อ่อนเพลีย กินได้น้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อให้สารน้ำทดแทน

4.เมื่อลูก ปวดท้อง สาเหตุอาจเนื่องจาก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย ไส้ติ่งอักเสบ(มักมีไข้ อาเจียนร่วมด้วย)
การดูแลเบื้องต้นอาจให้กินยาเคลือบกระเพาะถ้าไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

5.เมื่อลูก ชัก ควรระวังภาวะอันตรายถ้าลูกล้มศรีษะกระแทกพื้น ห้ามเอานิ้วใส่ปากเพราะเด็กจะกัดเป็นอันตรายได้ ให้จับหน้าตะแคงเพื่อไม่ให้สำลักสิ่งของที่อยู่ในปาก ถ้ามีไข้ให้เช็ดตัวให้ลูก ถ้าลูกเริ่มรู้ตัวอาจให้ยาลดไข้ และยากันชักถ้าเคยเป็นมาก่อน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
ที่มา : เกร็ดความรู้จากโรงพยาบาลเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น