ของเล่นเด็ก



ของเล่นที่ดีมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กได้ รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โรงงานหลายแห่งพยายามคิดค้นและผลิตของเล่นที่มีคุณภาพ นอกจากให้ความสนุกสนานแล้ว ยังคำนึงถึงความปลอดภัยอีกด้วย แต่บางโรงงานก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องสรรหาของเล่นที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ และมีความปลอดภัยด้วย มีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ
- เลือกของเล่นให้เหมาะกับวัย ความสนใจ และทักษะในการเล่นของลูก
- เลือกของเล่นที่มีคุณภาพ ทั้งเรื่องการออกแบบ วัสดุ และส่วนประกอบต่างๆ
- มองหาเครื่องหมาย มอก. หรือเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- อ่านคำแนะนำและข้อห้ามต่างๆ ที่มาพร้อมกับของเล่นให้ดี ทำความเข้าใจวิธีการเล่น แล้วอธิบายให้ลูกฟังให้ดี
- ควรสังเกตเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ข้างกล่องด้วย เช่น "ติดไฟง่าย" คุณจะได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเวลาเล่นหรือเวลาเก็บ หรือของเล่นจำพวกตุ๊กตา ถ้ามีระบุไว้ว่า "ซักในเครื่องซักผ้าได้" คุณก็จะทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
- แกะกระดาษหรือพลาสติกห่อ แล้วทิ้งให้พ้นมือลูกทันทีก่อนที่ลูกจะนำมาเล่น เพราะเคยเป็นข่าวมาแล้วว่ามีเด็กกลืนพลาสติกห่อเข้าไปจนติดคอ
- ควรตรวจเช็คสภาพของเล่นขณะยังใหม่แกะกล่องว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ ก่อนจะส่งให้ลูกเล่น ของเล่นสำหรับเด็กไม่ควรมีเหลี่ยมมุมที่แหลมคม
- หลังจากนั้น หมั่นตรวจเช็คเป็นระยะๆ ว่ามีชิ้นส่วนใดแตกหักเสียหาย มีส่วนบิ่น คม ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ลูกหรือไม่ หากมีก็ควรรีบซ่อมแซมแก้ไข แต่หากซ่อมไม่ได้แล้ว ก็ควรทิ้งไปเสีย ไม่ต้องเสียดาย
- ของเล่นที่ทำจากไม้ ควรได้รับการขัดเรียบมาอย่างดี ไม่มีเหลี่ยมคมหรือเสี้ยนที่จะบาดมือได้
- ควรระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับของเล่นที่สามารถแยกชิ้นส่วนออกเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับเด็กได้ โดยเฉพาะในวัยที่หยิบทุกอย่างเข้าปาก อาจจะทำให้ติดคอ อุดหลอดลม เข้าจมูก หรือเข้าหู
- หลีกเลี่ยงของเล่นที่มีการยิงออกไปยังเป้า เช่น ปืนพร้อมลูกกระสุน ธนูและลูกธนู หรือลูกดอก ซึ่งจะเกิดอันตรายได้ง่าย ยิ่งหากเขามองหาเป้าหมายที่เป็นเด็กๆ ด้วยกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงของเล่นที่สามารถบินหรือกระเด็นได้ ซึ่งยากต่อการควบคุมทิศทาง
- สำหรับปืนเด็กเล่นนั้นควรพิจารณาให้ดีว่าควรซื้อให้เด็กเล่นหรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้ ของเล่นกับของจริงใกล้เคียงกันมาก หากที่บ้านมีปืนจริงซึ่งไม่ได้เก็บให้มิดชิด ก็มีโอกาสที่ลูกๆ จะหยิบมาเล่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ยังมีผู้กังวลถึงการบ่มเพาะนิสัยก้าวร้าวรุนแรงให้กับเด็กที่เล่นปืนอีกด้วย
- ของเล่นที่มีเชือกยาวก็สามารถเกิดอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากอาจทำให้สะดุดหกล้ม หรือรัดคอเด็กจนหายใจไม่ออก
- ของเล่นที่มีเสียง ควรตรวจสอบให้ดีว่าดังเกินไปสำหรับหูของเด็กหรือไม่
- หากจะทาสีของเล่นใหม่ไห้ลูก ควรใช้สีที่เพิ่งซื้อ เนื่องจากสีเก่าเก็บที่ถูกทิ้งไว้ในกระป๋องนานๆ มักจะมีสารตะกั่วมากกว่าสีที่ซื้อใหม่
- ของเล่นบางชนิดที่สำหรับไว้เล่นนอกบ้าน ควรเก็บให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ให้เกะกะขวางทาง และเก็บให้พ้นแสงแดดหรือน้ำฝน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด
- ควรตรวจสอบของเล่นที่เล่นกลางแจ้ง ว่าไม่เป็นสนิม ไม่เปราะหักหรืออ่อนตัวลง จนอาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกได้
- เก็บของเล่นสำหรับเด็กโตให้พ้นมือเด็กเล็ก เพราะอาจเป็นอันตรายได้ หากนำมาเล่นผิดวิธี
- นอกจากของเล่นแล้ว ที่เก็บของเล่นก็ต้องปลอดภัยเช่นกัน หากเป็นกล่องก็ควรมีน้ำหนักเบา หยิบยกได้ง่าย ฝาปิดไม่หนีบมือได้ง่ายๆ และไม่อับชื้น ซึ่งอาจจะทำให้ของเล่นขึ้นรา
- และสิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือการสอนลูกให้เก็บของเล่นให้เป็นที่เป็นทางทุกครั้ง นอกจากทุกคนในบ้านจะไม่สะดุดหกล้มหรือตกบันได เพราะของเล่นที่วางเกลื่อนกลาดแล้ว ยังเป็นการฝึกระเบียบวินัยให้กับลูกๆ ด้วย
เด็กจำนวนไม่น้อยที่เล่นของเล่นแบบแผลงๆ ผิดวิธีการเล่น หรือนำสิ่งที่ไม่ใช่ของเล่นมาเล่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น การกลืนวัตถุสิ่งของที่มีขนาดเล็กจนติดคอ หรือการนำถุงพลาสติกมาครอบศีรษะ
ดังนั้น เมื่อลูกเล่นอะไรก็ตาม ควรอยู่ในสายตาผู้ใหญ่เสมอ บางครั้งอาจมีเพื่อนๆ ของลูกมาเล่นด้วย พ่อแม่ก็ควรอธิบายวิธีการเล่นให้เพื่อนของลูกฟังด้วย

ถือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่นอกจากจะต้องเลือกของเล่นคุณภาพที่เหมาะกับลูกแล้ว ยังต้องดูแลขณะที่เด็กกำลังเล่นอีกด้วย ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันเด็กให้พ้นจากอันตรายที่เกิดจากของเล่นที่ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น