เด็กกับความรุนแรงในสังคมไทย



สังคมไทยจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กในสังคมไทยให้แจ่มชัดมากขึ้น เพราะการใช้ความรุนแรงในการดำเนินชีวิตได้คืบคลานเข้ามาอยู่กับเด็กไทยทุกขณะแล้ว กระแสการต่อต้านเกมส์ที่เน้นความรุนแรงและรัฐได้ปราบไม่ให้ร้านเกมส์มีเกมส์ประเภทความรุนแรงบริการเด็ก อันเนื่องมาจากกรณีเด็กนักเรียนอายุ ๑๖ ปล้นฆ่าแท็กซี่โดยยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากเกมส์ที่มีความรุนแรงเป็นสาระหลัก แม้ว่าการปราบปรามด้วยการใช้อำนาจรัฐเป็นเรื่องที่ควรจะทำ แต่สังคมไทยไม่ควรจะนิ่งนอนใจหรือพึงพอใจว่าได้ขจัดต้นตอการใช้ความรุนแรงไปได้แล้ว เพราะในความเป็นจริงนั้น การใช้ความรุนแรงของเด็กมีเงื่อนไขอื่นมากำหนดอีกมากมาย ตัวอย่างการก่ออาชญากรรมของเด็กวัยรุ่นที่กระทำต่อแท็กซี่และคนทั่วไปที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเล่นเกมส์มีมากมาย เช่น เด็กจี้แท็กซี่เพราะต้องการเอาเงินไปเที่ยวกลางคืน การตี ฆ่า ข่มขืน ของเด็กแซ็บ เด็กแว้นท์ (เด็กกวนเมือง) ที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของสังคมไทย หรือ เด็กผู้หญิงตบตีกันแล้วถ่านคลิปเอาไว้ “โชว์พาว” ข่มขู่เด็กอื่นๆ ตัวอย่างมากมายเช่นนี้ชี้ให้ตั้งคำถามได้ทันทีว่า เกมส์เป็นต้นตอความรุนแรงจริงหรือ หรือว่า เกมส์จะเป็นเพียงเงื่อนไขการกระตุ้นสำนึกของการใช้ความรุนแรงในการดำเนินชีวิตที่ฝังในเด็กวัยรุ่นไปเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ในสังคมไทยมักจะอธิบายปัญหาของเด็กวัยรุ่นต่างๆอย่างมักง่ายตลอดมา โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการโทษครอบครัวว่าครอบครัวแตกแยกหรือครอบครัวไม่มีเวลาให้แก่ลูกหลาน (ซึ่งตรงกับสำนวนไทยว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” นั่นเอง) จากนั้นก็ชี้นิ้วกล่าวโทษไปที่โรงเรียนว่าไม่เอาใจใส่ และเลื่อนนิ้วไปชี้ที่เพื่อนว่าเกิดจากการคบเพื่อนแล้ว และท้ายที่สุดก็มักจะโทษที่ปัจจัยภายนอกที่ท่านทั้งหลายเชื่อว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาในเด็กวัยรุ่น อันได้แก่ การเล่นเกมส์หรือการรับวัฒนธรรมตะวันตก การอธิบายแบบมักง่ายไร้ปัญญาของผู้ใหญ่ไทยได้ทำให้เกิดแบบแผนของการทำความเข้าใจความรุนแรงของเด็กวัยรุ่นที่ตื้นเขินขึ้นมา แต่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่ คำอธิบายเช่นนี้กลับมีอิทธิพลอย่างมาก และขยายตัวออกไปจนทั้งสังคมไทยเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆไปแล้ว การอธิบายเช่นนี้วางอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่มองไม่เห็นหรือไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยท่านเหล่านี้ยังคงเชื่ออย่างหักปักหัวปำว่าว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ดียิ่ง แต่ที่เกิดปัญหาก็เพราะว่าคนหรือเด็กวัยรุ่นลืม “วัฒนธรรมไทย” หันไปหลงใหลบางสิ่งบางอย่างนอกวัฒนธรรมไทยชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น การแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็คือ การรณรงค์ให้เด็กวัยรุ่นหันกลับมาหา “วัฒนธรรมไทย” การอธิบายเช่นนี้ ไม่ได้นำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาใดๆ ที่มีประสิทธิภาพแต่ประการใด ดังที่เราจะพบเห็นปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมาหลายสิบปี นอกจากจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจปลอมๆว่าได้ทำการแก้ไขปัญหาที่สำคัญยิ่งนี้ได้ด้วยการรณรงค์ความเป็นไทย งานวิจัยของอเมริกาที่พยายามจะพิสูจน์ว่าสื่อที่มีความรุนแรงมีผลต่อการใช้ความรุนแรงหรือไม่ งานวิจัยนี้พบว่ามีแนวโน้นที่เด็กที่ใช้ความรุนแรงอยู่แล้วจะนิยมเสพสื่อที่มีความรุนแรง หากแต่กลุ่มเด็กที่ไม่นิยมความรุนแรงแม้ว่าจะเสพสื่อความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้เด็กกลุ่มนี้หันมานิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา งานวิจัยของหน่วยราชการที่ดูแลคดีเด็กและเยาวชนของไทยเอง ก็เคยชี้ให้เห็นว่าร้อยละสี่สิบเจ็ด (ประมาณนี้แหละครับ หากจำตัวเลขผิดไปบ้าง ต้องขออภัยผู้วิจัยด้วย) ของเด็กที่ติดอยู่ในสถานพินิจนั้นมาจากครอบครัวปรกติ ไม่ใช่ครอบครัวแตกแยก ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าคำอธิบายแบบมักง่ายนั้นไม่จริง นักศึกษาท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เป็นคนชอบคิดชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ได้ให้ความเห็นว่า แม้เขาจะชอบเล่นเกมส์ความรุนแรง แต่เขาก็ไม่เคยมีความคิดในการก่ออาชญากรรมใดๆเลย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเกมส์ไม่ใช่ปัจจัยหลักอย่างแน่นอนการกล่าวโทษถึงการรับ “วัฒนธรรมตะวันตก” ยิ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้สาระที่สุด เพราะเราสามารถชี้ได้ในทุกปัญหาว่าเกิดจากการรับ “วัฒนธรรมตะวันตก” ประเด็นที่จำเป็นต้องสังวรให้มากก็คือ “อะไรที่อธิบายได้ทุกอย่างก็มีความหมายเท่ากับไม่ได้อธิบายอะไรเลย” ดังนั้น หากเราต้องการที่จะเข้าใจปัญหาเด็กวัยรุ่นจำเป็นต้องลืมหรือก้าวข้ามกรอบการอธิบายมักง่ายเช่นที่ผ่านมา คำถามหลักที่ต้องถามกันก่อนก็คือ การใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวันของเด็กวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้นกลายมาเป็น “บรรทัดฐาน” ของความสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กวัยรุ่นไทยนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามใหม่ที่ถามขึ้นโดยเน้นที่จะทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทำให้เกิด “บรรทัดฐาน” ซี่งหมายความว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อตวามหมายของการดำเนินชิวิตทีเดียว เราจำเป็นต้องตั้งคำถามกันใหม่เพราะการตั้งคำถามลักษณะนี้จะเอื้ออำนวยให้เราแสวงหาคำตอบที่จะอธิบายให้สังคมไทยเข้าใจทั้งความเปลี่ยนแปลงในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเด็กวัยรุ่นที่เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย การตั้งคำถามเช่นนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างความสัมพันธ์ทั้งหมดของสังคม และความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้เราสามารถมาองหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการประณามแบบเดิม สังคมไทยในวันนี้ไม่ใช่สังคมไทยแบบที่คนรุ่นอายุสี่สิบปีคุ้นเคย การอธิบายสังคมด้วยกรอบความคิดแบบเก่ารังแต่จะทำให้สังคมไทยงุ่มง่ามและไร้พลังในการแก้ไขปัญหา สังคมไทยจะเผชิญปัญหาใหม่ได้อย่างมีพลังก็เมื่อกล้าที่ตั้งคำถามใหม่ที่อาจจะท้าทายกรอบความคิดเดิม



ที่มา : อรรถจักร สัตยานุรักษ์

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ใต้กระแส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 8 สิงหาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น