เลี้ยงลูกเชิงบวก



ผู้ใหญ่มักใช้วิธีรับมือกับเด็กด้วยความรุนแรง ด้วยหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาได้ แต่หารู้ไม่ว่านี่เป็นวิธีที่ไม่เคยใช้ได้ผล ที่สำคัญคือถือว่าผู้ใหญ่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงไปแล้ว
ทว่าจากนี้ไปหนังสือ การสร้างวินัยเชิงบวก:ความเข้าใจที่ถูกต้องและวิธีนำไปใช้ (Positive Discipline:What it is and how to do it) โดย ดร.โจน อี ดูแรนท์ จะเป็นคู่มือเลี้ยงลูกเพื่อเป็นแนวที่ถูกต้องให้กับพ่อแม่

สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงกับเด็กว่า มีนัยยะสำคัญทับซ้อนกันอยู่ 2 ประการ คือ ความรู้สึกต้องการสั่งสอนให้เด็กปรับพฤติกรรม และรองรับอารมณ์ของผู้ปกครอง ซึ่งเด็กไม่เคยเข้าใจว่าทำไมจึงถูกทำร้าย และยังมีผลต่อพฤติกรรมเด็กให้มีความรู้สึกหวาดกลัว กังวล และโกรธแค้นด้วยความรู้สึกที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ ทั้งยังทำให้เด็กต่อต้านไม่อยากอยู่ใกล้พ่อแม่ แต่เด็กไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง เพราะลับหลังก็ยังเป็นเช่นเดิม"ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลหรือลงโทษด้วยการตีก็ไม่ส่งผลดีต่อเด็ก แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือเป็น role model ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น" สรรพสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กแบ่งเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ในวัยนี้เด็กยังไม่มีพัฒนาการด้านคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล แต่จะเน้นพัฒนาการด้านอารมณ์พ่อแม่จึงไม่ควรอบรมด้วยการใช้เหตุผล แต่ต้องใช้วิธีดึงความสนใจ ช่วงวัย 6-12 ปี เป็นช่วงที่เริ่มใช้เหตุผล และอายุ 12-18 ปี เด็กวัยนี้ต้องการโต้เถียงด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากผู้ใหญ่
ดร.สมบัติ ตาปัญญา นักวิชาการจิตวิทยาคลินิกและผู้แปลฉบับภาษาไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กพบว่า เมื่อเด็กได้รับความรุนแรงพวกเขาจะซึมซับความรุนแรงเหล่านั้น และเมื่อเติบโตก็มีมักจะแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

"เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คู่แม้จะเขียนโดยนักวิชาการต่างประเทศแต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเลี้ยงดูเด็กที่สามารถนำมาใช้ได้กับสภาพครอบครัวของประเทศไทย ซึ่งยังไงมีแนวคิดความเชื่อว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี" ดร.สมบัติ กล่าว

มร.โดมินิก ปิแอร์ ปลาโต้ ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านการป้องกันการล่วงละเมิดและการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก Save The Children Sweden กล่าวว่า มีเด็กทั่วโลกราวร้อยละ 80-90 ที่ได้รับการลงโทษทางร่างกายและจิตใจ ด้วยเป้าหมายที่ผู้ใหญ่คิดว่านั่นคือ \'การสร้างวินัยให้เด็ก\' และปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเด็กก็มิได้เกิดเฉพาะในครอบครัวยากจนหรือในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แม้แต่เด็กๆ ในประเทศตะวันตกก็เผชิญกับความรุนแรงจากครบครัวเช่นกัน องค์กรฯ จึงได้ร่วมรณรงค์ให้วันที่ 30 เม.ย.ของทุกปี ถือเป็น วันแห่งการยุติการทำร้ายเด็กนานาชาติ International Spank Out Day

สำหรับความหมายที่แท้จริงของ การสร้างวินัยเชิงบวก ก็คือการสอนที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จโดยให้ข้อมูลความรู้ และความรักแก่เด็ก รวมถึงการสนับสนุนการเติบโตของพวกเขาโดยไม่ใช้การทำโทษทางร่างกายหรือจิตใจ เพราะการลงโทษล้วนทำให้เด็กมีความก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรลืมก็คือ มีเครื่องมืออันทรงพลังอยู่ 2 ประการ
นั่นคือ การปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างอบอุ่นรักใคร่ และยอมรับ เพื่อเด็กจะได้รู้สึกปลอดภัย ไม่หวาดกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือตะหวาดใส่หากเขาทำอะไรผิดพลาด เครื่องมืออีกประการหนึ่งก็คือการสร้างแนวทางสำหรับเด็กที่ไม่ได้หมายถึงการลงโทษหรือการขีดกรอบให้เดิน ทว่าแนวทางในที่นี้หมายถึงการให้ข้อมูลและการสื่อสาร
หากการลงโทษคือการหวังผลระยะสั้นเพื่อให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างวินัยเชิงบวก จึงเปรียบเสมือนวิธีรับมือที่พ่อแม่คาดหวังได้ในระยะยาว.


ที่มา : Thaipost

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น