เมื่อคุณต้องเลี้ยงลูกคนเดียว



เมื่อคุณต้องเลี้ยงลูกคนเดียว
หากเปรียบร่างกายกับครอบครัว ทุกคนคงต้องการ เกิดมามีร่างกายครบบริบูรณ์ ร่างกายที่มีทั้งแขน ขา จมูก ปาก เฉกเช่นเดียวกับครอบครัว ทุกคนต่างต้องการ มีครอบครัวที่ครบบริบูรณ์ ครอบครัวที่มีทั้งพ่อ แม่ ลูก แต่หากครอบครัวใด ที่ต้องพิการ คือขาดพ่อ หรือแม่ไป ครอบครัวเหล่านั้น ก็ยังสามารถสร้างครอบครัว ให้มีคุณภาพ สร้างครอบครัว ให้ผาสุกได้ หากเพียงแต่สมาชิกในครอบครัว เรียนรู้ที่จะดำเนินครอบครัว อย่างสอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ ให้ดีที่สุด
ครอบครัวที่พ่อหรือแม่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว
หลายๆ ครอบครัว ที่พ่อหรือแม่ ต้องไปทำงานไกลๆ เป็นระยะเวลานาน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เสียชีวิต หรือหย่าร้างกัน ทำให้คนใดคนหนึ่ง ต้องรับภาระ ในการเลี้ยงดูลูกคนเดียว จากครอบครัว ที่เคยอยู่ พร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็เหลือเพียง พ่อหรือแม่ กับลูก ผลที่เกิดจากการที่ลูก ต้องมีพ่อแม่ เพียงคนเดียว จะทำให้ลูก เกิดความรู้สึกเศร้า หดหู่ และเสียใจ ที่พ่อหรือแม่ ต้องพลัดพรากจากไป ลูกจะมีความรู้สึกว่า ชีวิตไม่มั่นคง ไม่มีหลักประกันในชีวิต และรู้สึกว่า เขาไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้ ซึ่งเขาจะรู้สึกกลัว และอ่อนแอ ขาดความยอมรับนับถือตนเอง ว่ามีคุณค่า และอาจกลายเป็นเด็กขาดรัก ซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกต่อไป
เตรียมความพร้อมลูกให้ยอมรับการพลัดพราก
ก่อนที่พ่อหรือแม่ต้องพลัดพรากจากลูก จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อน เพื่อป้องกันปัญหา ที่จะเกิดต่อเนื่องตามมา วิธีการเตรียมความพร้อม ให้กับลูกนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการแยกกันอยู่ ของพ่อแม่ ซึ่งมีอยู่หลายกรณีด้วยกัน
กรณีที่พ่อหรือแม่ ต้องพลัดพรากจากไปชั่วคราว หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไปทำงานในที่ไกลๆ เป็นระยะเวลานาน พ่อหรือแม่ที่จะไป ควรจะรักษาสัมพันธภาพ ให้มีการติดต่อสื่อสารกับลูก อย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกรู้สึกว่า 'แม้กายห่างไกล แต่ใจยังอยู่ใกล้' ซึ่งต้องมีการติดต่อกับลูก อย่างสม่ำเสมอ และควรจะพยายาม หาทางมาพบลูกบ้าง ส่วนพ่อหรือแม่ ที่อยู่กับลูก ควรจะทำให้ลูกมั่นใจเสมอว่า คนที่จากไปนั้น จะต้องกลับมาแน่นอน
กรณีที่พ่อแม่เสียชีวิต จะต้องมีการบำบัดฟื้นฟู สภาพจิตใจของลูก (และพ่อหรือแม่ ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย) เพราะลูกไม่สามารถยอมรับ หรือเข้าใจ หากพ่อหรือแม่ เสียชีวิต ตั้งแต่ลูก อายุไม่เกิน 6 เดือน อาจจะไม่มีผลมากนัก ซึ่งอาจจะไม่ต้องทำการบำบัด เพราะลูกยังไม่มี Attachment (ความผูกพัน) กับใคร แต่อย่างไรก็ดี ลูกจะมีความสูญเสีย ซึ่งจะต้องทำให้ลูกรู้ว่า เขายังมีคนที่รัก และดูแลเขาเสมอ แต่หากลูกโตพอ ที่จะรู้ว่าพ่อหรือแม่ตาย จะต้องมีกระบวนการ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (Cognitive Processing) เพื่อให้ลูก ยอมรับความเป็นจริงให้ได้ว่า พ่อหรือแม่ ไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว และลูกยังมีพ่อหรือแม่ ที่ยังอยู่ที่จะรักลูก และอยู่กับลูก พร้อมที่จะดูแลลูก ตลอดไป
กรณีที่พ่อแม่หย่ากัน เพราะเข้ากันไม่ได้ ก่อนหย่า พ่อและแม่ ต้องชี้ให้ลูกเห็นว่า คนเรา ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลา ให้เด็กรู้ว่า ความเป็นสามีภรรยา และความเป็นพ่อแม่นั้น แยกออกจากกัน ถึงแม้ว่า ความเป็นสามีภรรยา จะสิ้นสุดลง แต่ความเป็นพ่อแม่ ยังคงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น พ่อกับแม่ยังคงเป็นพ่อกับแม่ ของลูกอยู่เสมอ
กรณีที่พ่อแม่หย่ากัน เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไปมีคนอื่น ลูกจะยอมรับไม่ได้ จะมีอาการปฏิเสธต่อต้าน คนที่แยกออกไป ซึ่งจะต้อง ทำการบำบัดฟื้นฟูเด็ก เพราะลูกจะไม่เข้าใจ ไม่สามารถยอมรับได้ และเกิดความรู้สึก ไม่มั่นคงทางจิตใจ (insecure) ลูกจะรู้สึก เก็บกดรุนแรง และรู้สึกว่า ตนเองไม่มีค่า ซึ่งเขาจะแสดงออกมา ในลักษณะโกรธ เกลียด แต่ลึกๆ แล้ว เขาต้องการความรักจากคนๆ นั้น
พ่อหรือแม่คนเดียวจะเลี้ยงลูกอย่างไร
ก่อนอื่น ต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ให้ตนเองก่อนว่า ความขัดแย้งระหว่างเรา กับคู่ครอง ไม่ใช่เรื่อง ที่ลูกต้องเข้ามา ร่วมรับผิดชอบ พยายามวางตัวเป็นกลาง เมื่อจำเป็นต้องพูดถึง ฝ่ายตรงข้าม และงดเว้น การวิพากษ์วิจารณ์ อดีตคู่ครอง ให้ลูกฟัง และสอนให้ลูก หัดมองบุคคลอื่น ในทางบวก
นอกจากนี้ การที่พ่อหรือแม่คนเดียว จะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้นั้น ยังต้องสอดคล้องกับเพศ และวัย ของลูกอีกด้วย
วัยเด็กเล็ก (แรกเกิด-6 ปี) ในช่วงแรกของชีวิตลูก
พ่อหรือแม่ที่อยู่กับลูก จะต้องแสดงบทบาทที่ครบวงจร ในฐานะที่เป็น ทั้งพ่อและแม่
วัยก่อนวัยรุ่น (7-12 ปี)
ลูกจะเริ่มเรียนรู้เรื่องเพศ และเริ่มสะสม การพัฒนาการเรื่องเพศ เพราะฉะนั้น ลูกควรจะได้เรียนรู้ ความสัมพันธ์ของแต่ละเพศ ในครอบครัว กรณีนี้ หากพ่ออยู่กับลูกชาย ให้พยายามหาคน มาแสดงบทบาทของผู้หญิง มาช่วยให้ลูกเรียน และเสริมบทบาททดแทน เช่น ย่า ยาย ป้า น้า อา แต่ถ้า แม่อยู่กับลูกสาว ให้หาคน มาแสดงบทบาทผู้ชาย มาช่วยให้ลูกเรียนรู้ และเสริมบทบาททดแทน เช่น ปู่ ตา ลุง น้า อา แต่ถ้า แม่อยู่กับลูกชาย หรือพ่ออยู่กับลูกสาว ให้หาคนเพศเดียวกับลูก มาชดเชย ในส่วนที่พ่อหรือแม่ ขาดไป เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ ถึงบทบาทของเพศตนเอง ซึ่ง gender (ความสัมพันธ์ของคน ที่มีเพศที่แตกต่างกัน) เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด สำหรับพัฒนาการ ด้านครอบครัวของเด็ก เขาจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้ตนเอง มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเพศตน รวมทั้งการปรับตัว ให้สามารถดำเนินชีวิต กับเพศตรงข้าม ได้อย่างสอดคล้อง และมีสมดุล
วัยรุ่น (13 ปีขึ้นไป)
ลูกจะต้องการคน guidance คือ คนชี้แนะ มากกว่าคนสอน เพราะช่วงวัยนี้ จะเป็นวัยที่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งพ่อหรือแม่ที่อยู่กับเขา ต้องพึงระวัง ไม่ไปจุกจิกจู้จี้กับลูก มากจนเกินไป ส่วนใหญ่พ่อแม่รายเดียว ที่อยู่กับลูก อาจจะรักลูก มากเกินไป เพื่อทดแทน คนที่เขาเสียไป อาจทำให้เข้าไป จู้จี้กับลูกมาก ดังนั้น พ่อแม่ควรจะทบทวน และวิเคราะห์ตัวเองด้วย นอกจากนั้น พ่อหรือแม่ ไม่ควรนำความเลวร้าย ของอีกฝ่ายหนึ่ง มาพูดให้ลูกฟัง โดยเด็ดขาด เพราะลูกวัยรุ่น จะอ่อนไหวมาก อาจทำให้ลูก ไม่ต้องการอยู่บ้าน และเกิดปัญหาตามมาได้
เพียงเท่านี้ ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ก็จะกลายเป็นครอบครัว ที่สมบูรณ์ได้ หากเพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ ได้เตรียมตัว และวางแผนในการเลี้ยงดูลูก เอาไว้อย่างรอบคอบ ในทางกลับกัน หากคุณพ่อคุณแม่ ได้เตรียมตัวล่วงหน้า นอกจากครอบครัว จะสูญเสีย คนใดคนหนึ่งไปแล้ว อาจจะต้องสูญเสีย สมาชิกในครอบครัว คนอื่นไปด้วย เพียงเพราะความไม่เข้าใจ ซึ่งจะนำพาปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
แล้วเมื่อนั้น...คุณจะหาความผาสุกในครอบครัวได้หรือ?


อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น